คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6232/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ก่อนปี 2530 จำเลยที่ 1 ไม่เคยเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการยกตู้สินค้าขึ้นลงจากเรือบรรทุกสินค้าหรือที่เรียกว่าสิทธิหน้าท่า เรือบรรทุกสินค้าที่เข้ามาขนถ่ายสินค้าที่ท่าเรือกรุงเทพฯ ในขณะนั้น หากมีปั้นจั่นประจำเรือก็จะใช้ปั้นจั่นของตนยกตู้สินค้า หากเรือลำใดไม่มีหรือมีไม่เพียงพอ ก็จะใช้ปั้นจั่นของจำเลยที่ 1 หรือของเอกชนซึ่งได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 1 ให้เข้าไปรับจ้างยกตู้สินค้าโดยเสียค่าธรรมเนียมการเข้าออกด้วย ต่อมาจำเลยที่ 1 มีนโยบายที่จะริเริ่มประกาศสิทธิหน้าท่า จึงได้สั่งซื้อปั้นจั่นเคลื่อนที่ชนิดเดินบนรางจำนวน 6 คัน จากประเทศยูโกสลาเวีย กำหนดติดตั้งแล้วเสร็จภายใน 520 วัน ได้มีบริษัทเอกชนมีหนังสือไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเสนอขอเข้าทำการรับจ้างขนถ่ายตู้สินค้าขึ้นลงจากเรือบรรทุกสินค้าในช่วงเวลาที่รอการติดตั้งปั้นจั่นของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจึงส่งเรื่องให้จำเลยที่ 1 พิจารณา จำเลยที่ 1ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นพิจารณาตรวจวิเคราะห์ถึงผลได้ผลเสียแล้ว เห็นชอบให้มีการประกาศสิทธิหน้าท่าโดยให้เอกชนเข้ามารับจ้างเหมาขนถ่ายตู้สินค้า ครั้นวันที่26 พฤศจิกายน 2530 โจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงได้ทำสัญญาจ้างเหมายกตู้สินค้าขึ้นลงจากเรือ ณ ท่าเรือกรุงเทพฯ โดยใช้ปั้นจั่นเคลื่อนที่เริ่มลงมือทำงานภายใน 90 วันนับแต่วันทำสัญญา เมื่อโจทก์เริ่มปฏิบัติงานก็มีสมาคมเจ้าของและตัวแทนเรือกรุงเทพฯได้ร้องเรียนต่อจำเลยที่ 1 รัฐบาล และคณะกรรมการร่วมระหว่างภาครัฐบาลและเอกชนว่า การที่จำเลยที่ 1 ประกาศสิทธิหน้าท่าและจ้างเหมาให้โจทก์ยกตู้สินค้านั้นทำให้ตู้สินค้าแออัดที่หน้าท่า ความสามารถในการยกตู้สินค้าของโจทก์ไม่เพียงพอชมรมเดินเรือต่างประเทศจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมความคับคั่งที่ท่าเรือกรุงเทพฯอันจะนำความเสียหายทางเศรษฐกิจมาสู่ประเทศชาติ กระทรวงคมนาคมได้มีหนังสือสั่งการให้จำเลยที่ 1 พิจารณาหาทางยกเลิกสัญญาที่ทำกับโจทก์ และให้จำเลยที่ 1พิจารณาอนุญาตให้เรือบรรทุกสินค้าใช้ปั้นจั่นของเรือยกสินค้าขึ้นลงได้ ต่อมาวันที่31 พฤษภาคม 2531 จำเลยที่ 1 ได้ประกาศสิทธิการยกตู้สินค้าหน้าท่าอนุญาตให้เรือสินค้าใช้ปั้นจั่นของเรือยกสินค้าขึ้นลงในบริเวณหน้าท่าเรือกรุงเทพฯ ได้เมื่อได้เสียค่าธรรมเนียมให้แก่จำเลยที่ 1 ในอัตราร้อยละ 25 ของค่าธรรมเนียมการใช้ปั้นจั่นยกสินค้าของจำเลยที่ 1 แล้ว ดังนี้สิทธิหน้าท่าที่จำเลยที่ 1 ประกาศไว้แต่แรก โดยพื้นฐานของสิทธิจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ทรงเอกสิทธิดังกล่าวย่อมทรงไว้ซึ่งสิทธิที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกได้เสมอ และต้องสันนิษฐานไว้ก่อนตามป.พ.พ.มาตรา 6 ว่า บุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต โจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 กระทำการโดยไม่สุจริต มีภาระที่จะต้องพิสูจน์ให้ได้ความตามข้อกล่าวอ้างเช่นนั้น แต่จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาได้ความว่า การประกาศสิทธิหน้าท่าของจำเลยที่ 1 เป็นเหตุโดยตรงก่อให้เกิดข้อท้วงติงและร้องเรียนจากบรรดาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องว่าจะก่อปัญหาให้เกิดผลเสียหายเป็นการล่วงหน้าแล้ว ที่โจทก์อ้างว่าเป็นพฤติการณ์วางแผนต่อต้านเพื่อล้มการประกาศสิทธิหน้าท่าโดยไม่สุจริต แต่จากเอกสารหมาย ล.60 ซึ่งเป็นหนังสือของบรรดาเจ้าของเรือขออนุญาตจำเลยที่ 2 ใช้ปั้นจั่นของเรือทำการขนถ่ายสินค้าเองรวม105 ฉบับ ด้วยเหตุขัดข้องล่าช้าอันเกิดจากการทำงานของโจทก์ที่สืบเนื่องจากการประกาศเอกสิทธิหน้าท่าของจำเลยที่ 1 ทั้งสิ้น และยังปรากฏตามเอกสารหมายล.26 ถึง ล.51 อันเป็นใบเสร็จรับเงินค่าจ้างของโจทก์จากจำเลย และบันทึกรายงานการตรวจการจ้างของบริษัทโจทก์ ปรากฏว่าโจทก์ไม่สามารถปฏิบัติงานถูกต้องครบถ้วนตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ตามสัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.20ข้อ 16, 17 และ 18 ต้องถูกหักเงินค่าจ้างเป็นค่าปรับและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยที่ 1 ตั้งแต่วันเริ่มสัญญาคือวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2531 ตลอดมาจนถึงสิ้นเดือนมกราคม 2532 เป็นข้อเท็จจริงที่ชี้ชัดว่า การประกาศสิทธิหน้าท่าของจำเลยที่ 1และความล่าช้าในการทำงานของโจทก์ได้ก่อให้เกิดความแออัดคับคั่งที่หน้าท่าเป็นผลเสียหายดังที่ได้มีการร้องเรียนก่อนหน้านั้นจริง การร้องเรียนต่อต้านล่วงหน้าของบรรดาผู้เกี่ยวข้องดังกล่าว จึงเป็นการคาดการณ์โดยสุจริตและถูกต้องตามความจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียกร้องให้แก้ไขซึ่งปรากฏรายละเอียดตามบันทึกรายงานการประชุมเรื่องการแก้ไขปัญหาจากการประกาศเอกสิทธิหน้าท่าของการท่าเรือแห่งประเทศไทย วันที่ 13 พฤษภาคม 2531มีการแสดงข้อเท็จจริงและเหตุผล ตลอดจนผลเสียหายที่เกิดแก่บรรดาผู้เกี่ยวข้องทุกแง่มุมโดยละเอียดจากผู้แทนของหน่วยราชการต่าง ๆ ตลอดจนผู้แทนองค์กรเอกชนที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ความชัดว่า หากไม่มีการแก้ไขจะเกิดผลกระทบเสียหายต่อเนื่องถึงเศรษฐกิจของชาติโดยรวมรุนแรงต่อไปด้วย ดังนี้ การประกาศยกเลิกสิทธิหน้าท่า ณ ท่าเรือกรุงเทพฯ และอนุญาตให้เรือสินค้าที่มีปั้นจั่นบนเรือยกตู้สินค้าขึ้นลงได้เองนั้น จำเลยที่ 1 ได้กระทำสืบเนื่องจากผลการประชุมดังกล่าวเป็นการกระทำที่เกิดจากการรับฟังพิเคราะห์ความเห็นและเหตุผลของทุกฝ่ายโดยรอบคอบแล้ว เป็นการใช้อำนาจในการบริหารตามเอกสิทธิของตนที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานแห่งข้อเท็จจริงและเหตุผลเพื่อระงับและป้องกันมิให้เกิดผลเสียหายต่อเอกชนที่เกี่ยวข้องตลอดจนความเสียหายต่อเศรษฐกิจของชาติโดยรวมโดยสุจริตและเป็นการกระทำเพื่อแก้ไขมิให้เกิดความเสียหายอันสืบเนื่องมาจากเหตุที่โจทก์มีส่วนก่อขึ้นโดยตรงด้วย จึงหาใช่การใช้สิทธิซึ่งมีแต่จะให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่นตาม ป.พ.พ.มาตรา 421 ไม่

Share