แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามคำฟ้องโจทก์มีประเด็นที่จะต้องพิจารณาว่า การออกแบบผลิตภัณฑ์โครงสำหรับยึดหลอดนีออนที่จำเลยนำไปขอรับสิทธิบัตรต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ.2522มาตรา 56 หรือไม่ หากฟังได้ว่าไม่ใช่เป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ สิทธิบัตรพิพาทที่จำเลยได้รับมาก็ออกโดยไม่ชอบด้วยมาตรา 56 ศาลย่อมมีอำนาจสั่งเพิกถอนสิทธิบัตรพิพาทได้ตามมาตรา 64 แต่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยว่า ผลิตภัณฑ์ที่จำเลยขอรับสิทธิบัตรไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่หรือเป็นการประดิษฐ์ที่มีขั้นประดิษฐ์สูงขึ้นและไม่เป็นการประดิษฐ์ที่สามารถประยุกต์ในทางอุตสาหกรรม การได้รับสิทธิบัตรพิพาทของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ.2522โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนได้ตามมาตรา 54 ดังนี้ ศาลอุทธรณ์ไปวินิจฉัยเรื่องการเพิกถอนสิทธิบัตรการประดิษฐ์ ซึ่งเป็นการวินิจฉัยโดยอาศัยบทบัญญัติในหมวด 2 แห่ง พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 แต่สิทธิบัตรพิพาทที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนเป็นสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติเรื่องการเพิกถอนสิทธิบัตรที่ออกไปโดยไม่ชอบไว้ในหมวด 3 เป็นบทกฎหมายต่างหมวดกันหลักเกณฑ์ในการพิจารณาว่าจะเพิกถอนสิทธิบัตรการประดิษฐ์กับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ได้หรือไม่ได้ มีข้อบัญญัติแตกต่างกันหลายประการ คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ยังคลาดเคลื่อนไม่ตรงกับประเด็นตามที่โจทก์ฟ้อง ปัญหาดังกล่าวนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่าย-ใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นกล่าวได้เอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246และ 247 คดีนี้แม้คู่ความจะสืบพยานมาเสร็จสิ้นแล้ว แต่เพื่อให้การพิจารณาพิพากษาคดีเป็นไปตามลำดับชั้นศาล เมื่อศาลฎีกาเห็นสมควร ก็ชอบที่จะย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาคดีใหม่ทั้งหมดได้