คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3292/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามพินัยกรรมเอกสารหมาย ค.9 และ ค.11 ทั้งสองฉบับกำหนดให้ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดก และให้ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้รับมรดกทั้งหมดของผู้ตายแต่เพียงผู้เดียว แม้จะฟังว่าพินัยกรรม เอกสารหมาย ค.11 ไม่มีผลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1686 เพราะมีข้อกำหนดในการก่อตั้งทรัสต์ขึ้นก็ตาม พินัยกรรมฉบับนี้ย่อมไม่มีผลเป็นการเพิกถอนพินัยกรรมตามเอกสารหมาย ค.9 ซึ่งไม่มีข้อกำหนดในการก่อตั้งทรัสต์ขึ้น ทั้งไม่ปรากฎว่าคู่ความได้โต้แย้งว่าเป็นพินัยกรรมที่ไม่สมบูรณ์ใช้บังคับไม่ได้แต่อย่างใด พินัยกรรมตามเอกสารหมาย ค.9 จึงสมบูรณ์ใช้บังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อพินัยกรรมดังกล่าวกำหนดให้ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้รับมรดกทั้งหมดของผู้ตายแต่เพียงผู้เดียวเช่นนี้ย่อมต้องถือว่าผู้ร้องทั้งสองซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายผู้ที่มิได้รับประโยชน์จากพินัยกรรมเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1608 วรรคท้าย ผู้ร้องทั้งสองจึงเป็นทายาทที่ไม่มีส่วนได้เสียในกองมรดกของผู้ตายย่อมไม่มีอำนาจที่จะร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้ร้องทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 วรรคหนึ่ง จึงมีเหตุสมควรที่จะถอนผู้ร้องทั้งสองออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ตามประมวลกฎหมายแพ่ง-และพาณิชย์ มาตรา 1727 วรรคหนึ่ง
ปัญหาว่ามีเหตุที่จะตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่ ปรากฎว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ได้ดำเนินการโอนเงินของผู้ตายซึ่งมีอยู่ในธนาคารในประเทศไทยไปเข้ากองมรดกของผู้ตายหมดแล้ว และหุ้นของผู้ตายในบริษัทในประเทศไทย บริษัทดังกล่าวก็ถูกพิพากษาให้ล้มละลายแล้ว จึงไม่มีทรัพย์สินของผู้ตายในประเทศไทยให้จัดการมรดกได้ ผู้คัดค้านที่ 1 เชื่อว่าไม่มีความจำเป็นแล้วที่จะมีผู้จัดการมรดกของผู้ตายในประเทศไทย ดังนี้ เมื่อผู้คัดค้านที่ 1 ยืนยันชัดแจ้งว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีผู้จัดการมรดกของผู้ตายในประเทศไทย ย่อมไม่มีเหตุที่จะตั้งให้ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย

Share