แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยมีหน้าที่จะต้องชำระค่าระวางเรือค่าเรือเสียเวลา ค่านายหน้า และค่าป่วยการต่าง ๆ ตามจำนวนที่ระบุไว้ในสัญญาเช่าเรือทั้งสิ้นเท่าไร จำเลยได้ชำระให้โจทก์แล้วเป็นเงินเท่าไร และยังคงต้องชำระแก่โจทก์เป็นค่าระวางและค่าเรือเสียเวลารวม 12,635.73 เหรียญสหรัฐแต่จำเลยไม่ยอมชำระให้โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินดังกล่าวแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย ดังนี้ คำฟ้องของโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเพียงพอที่จำเลยเข้าใจและต่อสู้คดีได้แล้ว ซึ่งจำเลยก็โต้แย้งเพียงว่าจำนวนค่าเช่าเรือและค่าเรือเสียเวลาไม่ตรงกับการคำนวณของจำเลยเท่านั้น แสดงว่าจำเลยเข้าใจคำฟ้องของโจทก์เป็นอย่างดี ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
สัญญาเช่าเรือได้ระบุรายละเอียดต่าง ๆ ของคู่สัญญาโดยได้ระบุสถานที่และวันทำสัญญาว่าเป็นกรุงลอนดอน เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2522แม้จำเลยผู้เช่าเรือได้ลงชื่อในสัญญาดังกล่าวที่กรุงเทพมหานคร แต่ข้อสัญญาเพิ่มเติมได้ระบุข้อตกลงเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการในข้อ 38 ว่า หากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นตามสัญญาเช่าเรือนี้ ให้ชำระสะสางโดยอนุญาโตตุลาการ ณกรุงลอนดอน ดังนี้ เมื่อโจทก์และจำเลยมิได้ตกลงกันให้แจ้งชัดเป็นอย่างอื่นว่าจะใช้กฎหมายว่าด้วยอนุญาโตตุลาการของประเทศใดบังคับ แต่ข้อตกลงดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นถึงเจตนาของโจทก์และจำเลยได้ว่า อนุญาโตตุลาการที่คู่กรณีตั้งขึ้น และการดำเนินการเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการต้องเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยอนุญาโตตุลาการของประเทศอังกฤษ เพราะตามข้อตกลงดังกล่าวโจทก์และจำเลยแสดงความประสงค์อย่างชัดแจ้งว่าให้ระงับข้อพิพาทระหว่างกันโดยอนุญาโตตุลาการ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษและตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 มาตรา 13บัญญัติว่า “ปัญหาว่าจะพึงใช้กฎหมายใดบังคับสำหรับสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญหรือผลแห่งสัญญานั้น ให้วินิจฉัยตามเจตนาของคู่กรณี…” ซึ่งย่อมมีความหมายว่ากฎหมายที่จะนำมาใช้บังคับแก่สาระสำคัญของข้อสัญญาเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการนั้น เมื่อคู่สัญญาได้แสดงเจตนาไว้ว่าจะให้ใช้กฎหมายของประเทศใดบังคับ ก็ให้เป็นไปตามทื่คู่สัญญาแสดงเจตนาไว้นั้น ดังนั้น การระงับข้อพิพาทตามสัญญาเช่าเรือซึ่งเป็นบ่อเกิดแห่งหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยโดยอนุญาโตตุลาการจึงต้องใช้กฎหมายว่าด้วยอนุญาโตตุลาการของประเทศอังกฤษมาบังคับ แม้โจทก์หรือจำเลยมิได้เป็นนิติบุคคลตามสัญชาติอังกฤษก็ตาม
จำเลยได้ให้การถึงปัญหาตามที่จำเลยฎีกาไว้ชัดแจ้งและอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหานั้นแล้ว แต่ศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยให้ จึงเป็นการที่ศาลอุทธรณ์มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ.ว่าด้วย
คำพิพากษาและคำสั่ง หากศาลฎีกาเห็นสมควรก็ชอบที่จะวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวน
การวินิจฉัยว่าโจทก์กับจำเลยมีหนี้สินค้างชำระต่อกันเป็นเงินที่โจทก์ต้องให้รางวัลแก่จำเลย (despatch) หรือเป็นเงินค่าเรือเสียเวลา (demurrage) ที่จำเลยจะต้องชำระให้โจทก์ตามสัญญาเช่าเรือหรือไม่ ก็ต้องวินิจฉัยจากข้อตกลงที่ระบุไว้ในสัญญาดังกล่าว ย่อมถือได้ว่าเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทตามสัญญาแล้ว แม้ว่าอนุญาโตตุลาการ ณกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ จะมิใช่รัฐที่คู่สัญญาสังกัดอยู่ แต่เมื่อเจตนาของโจทก์และจำเลยประสงค์จะระงับข้อพิพาทระหว่างกันโดยอนุญาโต-ตุลาการ ณ กรุงลอนดอน เจตนาดังกล่าวย่อมบังคับกันได้ อนุญาโตตุลาการณ กรุงลอนดอน จึงมีอำนาจชี้ขาดข้อพิพาทคดีนี้
เมื่อโจทก์และจำเลยเจตนาจะระงับข้อพิพาทตามสัญญาเช่าเรือโดยอนุญาโตตุลาการ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ย่อมถือได้ว่าโจทก์และจำเลยมีเจตนาโดยปริยายที่จะให้ใช้กฎหมายของประเทศอังกฤษบังคับใช้กับข้อพิพาทตามสัญญาดังกล่าวด้วย จำเลยจึงไม่อาจอ้างเอาบทบัญญัติมาตรา165 (6) เดิม แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งเป็นกฎหมายของประเทศไทยมาบังคับใช้โดยถือว่าอนุญาโตตุลาการ ณ กรุงลอนดอน ชี้ขาดสิทธิเรียกร้องที่ขาดอายุความแล้วหาได้ไม่
ปรากฏตามสัญญาเช่าเรือว่า หากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นตามสัญญาเช่าเรือนี้ ให้ชำระสะสางโดยอนุญาโตตุลาการ ณ กรุงลอนดอน โดยให้เจ้าของเรือและผู้เช่าเรือตั้งอนุญาโตตุลาการฝ่ายละ 1 คน ซึ่งโจทก์ก็ได้ตั้งอนุญาโตตุลาการฝ่ายของโจทก์แล้ว แต่จำเลยมิได้ตั้งอนุญาโตตุลาการฝ่ายจำเลยเป็นการที่จำเลยมิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อสัญญา การตั้งอนุญาโตตุลาการของโจทก์หาจำต้องกระทำด้วยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายไม่
แม้ว่าปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้อง ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาท แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยให้ได้
อนุสัญญาว่าด้วยการยอมรับนับถือและการใช้บังคับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ฉบับนครนิวยอร์ค ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2501 (ค.ศ.1958) ประเทศอังกฤษและประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย ส่วนประเทศ-สาธารณรัฐไลบีเรียไม่ได้เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาดังกล่าว แต่ข้อ 1 วรรคหนึ่งแห่งอนุสัญญานี้ที่กำหนดว่า “อนุสัญญานี้จะใช้แก่การยอมรับนับถือและการใช้บังคับคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ได้ทำขึ้นในอาณาเขตของรัฐใดรัฐหนึ่งนอกจากรัฐที่ถูกแสวงการยอมรับนับถือและการใช้บังคับคำชี้ขาดเช่นว่านั้น และซึ่งเกิดจากข้อแตกต่างระหว่างบุคคล ไม่ว่าบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล อนุสัญญานี้จะใช้แก่คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการซึ่งในรัฐที่ถูกแสวงการยอมรับนับถือและการใช้บังคับนั้นไม่ถือว่าเป็นคำชี้ขาดภายในด้วย” นั้น ไม่ได้นำหลักสัญชาติหรือภูมิลำเนาของคู่กรณีมาเป็นเงื่อนไขในการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ได้ทำขึ้นในประเทศอังกฤษอันเป็นอาณาเขตของรัฐอื่นที่มิใช่อาณาเขตของประเทศไทยอันเป็นรัฐที่มีการขอให้ยอมรับและบังคับตามคำชี้ขาดนั้นเช่นในคดีนี้ เมื่อโจทก์ซึ่งมีสัญชาติไลบีเรียพิพาทกับจำเลยซึ่งมีสัญชาติไทยและมอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด แม้โจทก์จะมีสัญชาติไลบีเรียซึ่งประเทศสาธารณรัฐไลบีเรียไม่ได้เป็นภาคีในอนุสัญญาดังกล่าวก็ตาม แต่โดยที่ประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วยและได้ประกาศเรื่องประเทศไทยเข้าเป็นภาคีแห่งอนุสัญญาดังกล่าว โดยให้อนุสัญญานี้เป็นอันใช้ระหว่างประเทศไทยกับบรรดาประเทศภาคีแห่งอนุสัญญานี้ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2503 ประเทศไทยจึงมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาดังกล่าว ดังนั้น คำชี้ขาดของอนุญาโต-ตุลาการซึ่งทำขึ้น ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นประเทศภาคีในอนุสัญญาฉบับนี้ คู่กรณีจึงอาจขอให้บังคับในศาลไทยได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้
โจทก์ได้ตั้งอนุญาโตตุลาการตามสัญญาอนุญาโตตุลาการถูกต้องแล้ว ส่วนการพิจารณาข้อพิพาทของอนุญาโตตุลาการ โจทก์ได้ส่งข้อพิพาท รายละเอียดเกี่ยวกับข้อเรียกร้องตามสัญญาเช่าเรือ และจำนวนเงินที่เรียกร้องให้จำเลยตามสำเนาบันทึกข้อเรียกร้อง และได้แจ้งให้จำเลยทำคำให้การหรือฟ้องแย้งภายในกำหนด 28 วัน มิฉะนั้นโจทก์จะยื่นคำร้องขอคำสั่งอนุญาโตตุลาการต่อไป แต่จำเลยเพิกเฉยและไม่ยอมให้ความร่วมมือในการพิจารณาระงับข้อพิพาทโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร และกฎหมายของประเทศอังกฤษ ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ ค.ศ.1950 มาตรา 7 (บี)ซึ่งบัญญัติว่า ในกรณีที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งไม่ได้แต่งตั้งอนุญาโตตุลาการขึ้นมานั้นไม่ว่าจะไม่ได้ตั้งแต่แรกหรือไม่ได้ตั้งอนุญาโตตุลาการแทนที่ภายใน 7 วันหลังจากที่คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งได้ตั้งอนุญาโตตุลาการฝ่ายตนแล้ว และได้แจ้งให้คู่สัญญาฝ่ายแรกที่ยังไม่ได้ตั้งอนุญาโตตุลาการให้ตั้งอนุญาโตตุลาการของตนเสียในกรณีเช่นนี้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งที่ได้แต่งตั้งอนุญาโตตุลาการไว้แล้ว อาจตั้งอนุญาโตตุลาการนั้นให้ดำเนินการในฐานะที่เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายเดียวในเรื่องดังกล่าวนั้นได้ และคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการฝ่ายเดียวนั้นย่อมจะผูกพันคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายเสมือนหนึ่งว่าเขาได้รับการแต่งตั้งโดยความยินยอมและมาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ.เดียวกันบัญญัติว่า ถ้ามิได้มีการแสดงเจตนากันไว้โดยชัดแจ้งเป็นอย่างอื่นในสัญญาเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการทุกสัญญาให้ถือว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการหรือผู้ชี้ขาดเป็นที่สุดและผูกพันคู่สัญญากับผู้เกี่ยวข้องที่เรียกร้องภายใต้สัญญาดังกล่าว ดังนี้ เมื่อคดีนี้ต้องใช้กฎหมายว่าด้วยอนุญาโตตุลาการของประเทศอังกฤษบังคับ กรณีจึงต้องวินิจฉัยตามมาตรา 7 (บี)และ 16 ดังกล่าว เมื่อโจทก์ตั้งอนุญาโตตุลาการ ณ กรุงลอนดอน ตามสัญญาอนุญาโตตุลาการและได้ขอให้จำเลยแจ้งชื่ออนุญาโตตุลาการฝ่ายจำเลยโดยเร็วที่สุดแล้ว แต่จำเลยไม่ตั้งอนุญาโตตุลาการ โจทก์จึงมีสิทธิตั้งอนุญาโตตุลาการณ กรุงลอนดอน ดังกล่าวให้ดำเนินการในฐานะที่เป็นอนุญาโตตุลาการฝ่ายเดียวในการระงับข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยได้ตามมาตรา 7 (บี) ดังกล่าวและเมื่อโจทก์ได้บอกกล่าวแก่จำเลยให้ทราบถึงข้อพิพาทข้อเรียกร้องตามสัญญาเช่าเรือ จำนวนเงินที่เรียกร้อง กับให้จำเลยทำคำให้การหรือฟ้องแย้งภายในกำหนด 28 วัน แล้ว แต่จำเลยเพิกเฉยและไม่ยอมให้ความร่วมมือในการพิจารณาระงับข้อพิพาทของอนุญาโตตุลาการโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร อนุญาโตุลาการที่โจทก์แต่งตั้งดังกล่าวจึงสามารถดำเนินการพิจารณาระงับข้อพิพาทไปฝ่ายเดียวโดยที่คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขาดนัดได้โดยไม่ต้องขออำนาจจากศาลก่อน และสัญญาอนุญาโตตุลาการในสัญญาเช่าเรือ ข้อ 38 ก็ไม่ได้ระบุไว้ว่าอนุญาโตตุลาการจะพิจารณาระงับข้อพิพาทไปฝ่ายเดียวโดยที่คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขาดนัดไม่ได้ อำนาจในการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยขาดนัดจึงเป็นเรื่องที่อนุญาโตตุลาการ ณ กรุง-ลอนดอน สามารถทำได้ คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการของประเทศอังกฤษในกรณีที่จำเลยขาดนัดย่อมผูกพันจำเลยตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ ค.ศ. 1950มาตรา 16 ของประเทศอังกฤษ
ปรากฏว่าฟ้องแย้งขอให้โจทก์ชำระเงินสำหรับเงินรางวัลที่จำเลยขนถ่ายสินค้าเร็วกว่ากำหนดและข้อต่อสู้เรื่องสิทธิเรียกร้องของโจทก์ขาดอายุความแล้วเป็นกรณีที่จำเลยมิได้ทำคำให้การต่อสู้ไว้ในชั้นอนุญาโตตุลาการเมื่อคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการมีผลผูกพันจำเลย จำเลยมิได้มีคำอ้างแสดงว่าอนุญาโตตุลาการมิได้กระทำการโดยสุจริตหรือคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งใช้กลฉ้อฉลข้อต่อสู้ของจำเลยจึงมิอาจลบล้างคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้
เมื่อต้องใช้กฎหมายว่าด้วยอนุญาโตตุลาการของประเทศ-อังกฤษบังคับแก่คดีนี้ คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ผูกพันจำเลย โจทก์ขอให้ศาลไทยบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามคำชี้ขาดดังกล่าวได้และไม่ปรากฏว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวขัดต่อกฎหมาย หรือปฏิบัติไม่ถูกต้องตามขั้นตอน หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยจึงต้องรับผิดตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการที่ให้จำเลยรับผิดในดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปี กรณีไม่อาจนำ ป.พ.พ. มาตรา 7 ที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ร้อยละ7.5 ต่อปี ซึ่งเป็นกฎหมายของประเทศไทยมาบังคับใช้แก่คดีนี้ได้ อย่างไรก็ตามโจทก์มิได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวศาลฎีกาจึงไม่อาจกำหนดให้จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ในดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปีได้ คงให้จำเลยรับผิดในดอกเบี้ยได้เพียงในอัตราร้อยละ 12 ต่อปีตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษามาเท่านั้น
เมื่อการดำเนินกระบวนพิจารณาและคำชี้ขาดของอนุญาโต-ตุลาการในประเทศอังกฤษไม่ปรากฏมีข้อผิดพลาด ไม่ถูกต้องตามขั้นตอน ขัดต่อกฎหมาย หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน คำชี้ขาดของอนุญาโต-ตุลาการแห่งประเทศอังกฤษจึงผูกพันจำเลย โจทก์ย่อมขอให้ศาลชั้นต้นซึ่งจำเลยอยู่ในเขตอำนาจบังคับจำเลยให้ปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการได้
แม้ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาตามฟ้องแย้งจะไม่เกิน200,000 บาท และฎีกาของจำเลยเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงก็ตาม แต่ปรากฏว่าข้อฎีกาดังกล่าวจำเลยได้อุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นไว้ด้วย และศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยปัญหาดังกล่าว อันเป็นการที่ศาลอุทธรณ์มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่ง ดังนี้ ศาลฎีกาชอบที่จะวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงดังกล่าวได้โดยไม่จำต้องย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยใหม่
เมื่อไม่ปรากฏว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการแห่งประเทศ-อังกฤษขัดต่อกฎหมายว่าด้วยอนุญาโตตุลาการของประเทศอังกฤษ หรือไม่ถูกต้องตามขั้นตอน หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ทั้งจำเลยมิได้โต้แย้งคัดค้านคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการโดยอาศัยเหตุดังกล่าว คำชี้ขาดนั้นย่อมผูกพันจำเลย ซึ่งอนุญาโตตุลาการได้ชี้ขาดให้จำเลยรับผิดชดใช้เงินแก่โจทก์แสดงว่าอนุญาโตตุลาการเห็นว่าจำเลยต้องชำระค่าเรือเสียเวลาให้โจทก์และจำเลยไม่สามารถทุ่นเวลาในการบรรทุกสินค้าขึ้นเรือได้ จำเลยจึงไม่มีสิทธิได้เงินรางวัลจากโจทก์ตามฟ้องแย้ง