คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1212/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีที่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง แม้ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยให้และจำเลยฎีกาต่อมา ก็ถือเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
การขีดฆ่าชื่อผู้รับพินัยกรรมจากเดิมที่เขียนว่า “ลเมียด” แล้วตกเติมคำว่า “ละเมียด” ส่วนนามสกุลของผู้รับพินัยกรรมยังคงไว้เช่นเดิมนั้น มิใช่การขีดฆ่าอันเป็นการเพิกถอนข้อกำหนดพินัยกรรม แต่เป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพื่อเขียนชื่อผู้รับพินัยกรรมให้ถูกต้อง เมื่อการขีดฆ่าตกเติมนั้นมิได้ลงวันเดือนปีที่แก้ไข ผู้ทำพินัยกรรมและพยานในพินัยกรรมทั้งสองคนมิได้ลงชื่อกำกับ การแก้ไขเปลี่ยนแปลงจึงไม่สมบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1656 วรรคสอง คำว่า “ละเมียด” ที่เขียนตกเติมจึงเสียไปและถือว่าไม่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำว่า “ลเมียด” ในพินัยกรรม การแก้ไขเปลี่ยนแปลงที่ทำไม่ถูกต้องตามแบบดังกล่าวหามีผลทำให้พินัยกรรมที่สมบูรณ์อยู่แล้วต้องตกเป็นโมฆะไม่
พินัยกรรมมีข้อความว่า เมื่อถึงแก่ความตายไปแล้วบรรดาทรัพย์สินยอมยกให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่ผู้ที่ได้ระบุไว้ในพินัยกรรมให้เป็นผู้รับทรัพย์สินดังนี้(1) เรือน… และมีข้อความว่า ขอมอบพินัยกรรมให้กับนางลเมียด… แสดงว่าเจ้ามรดกมีเจตนาทำพินัยกรรมยกเรือนพิพาทให้แก่โจทก์ที่ 2 หาใช่มีเจตนาเพียงแต่มอบพินัยกรรมให้เก็บรักษาไว้เฉย ๆ ไม่

Share