คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6827/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นบุคคลต่างด้าวสัญชาติอเมริกัน โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทให้กลับมาเป็นของจำเลยที่ 1 ดังเดิม และเรียกค่าเสียหายหากไม่สามารถทำได้ก็ขอให้จำเลยร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ไม่ใช่ฟ้องขอให้โจทก์มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท แม้ตามฟ้องโจทก์จะบรรยายถึงกรรมสิทธิ์รวมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ในที่ดินพิพาทและโจทก์เป็นคนต่างด้าวก็ตาม โจทก์ก็มีสิทธิในส่วนของตน เพราะตามประมวลกฎหมายที่ดินมิได้ห้ามขาดไม่ให้คนต่างด้าวถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน เป็นแต่เพียงต้องเป็นไปตามเงื่อนไขและวิธีการซึ่งกำหนดโดยกฎกระทรวงและต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเท่านั้น และในกรณีที่คนต่างด้าวได้ที่ดินมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้คนต่างด้าวนั้นจัดการจำหน่ายภายในเวลาที่อธิบดีกำหนดให้ ถ้าไม่จำหน่ายที่ดินภายในเวลาที่กำหนด ให้อธิบดีกรมที่ดินมีอำนาจจำหน่ายที่ดินนั้นตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 94 แสดงว่าแม้จะเป็นคนต่างด้าวก็สามารถมีสิทธิในที่ดินได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
โจทก์กับจำเลยที่ 1 อยู่ระหว่างการทดลองใช้ชีวิตคู่ร่วมกันต่อมาได้มีพิธีสมรสตามประเพณีไทย แต่ยังไม่ได้จดทะเบียนสมรส ถือว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรส โจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้ซื้อที่ดินพิพาท โดยเงินส่วนหนึ่ง ญาติผู้ใหญ่ให้ไว้ในวันแต่งงาน เงินดังกล่าวได้มาขณะอยู่ร่วมกัน โจทก์ย่อมมีส่วนด้วย อีกส่วนหนึ่งยืมจากมารดาโจทก์ และเงินอีกส่วนหนึ่งกู้ยืมจากธนาคาร โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้กู้ โจทก์เป็นผู้ค้ำประกันรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ซึ่งโจทก์ช่วยผ่อนชำระแก่ธนาคารจนหมดแล้ว ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินที่เกิดจากการทำมาหากินร่วมกัน โจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของรวมแม้จำเลยที่ 1 จะมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดแต่ผู้เดียว จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีอำนาจขายโดยโจทก์ไม่ยินยอม การที่จำเลยที่ 1 แจ้งข้อความแก่เจ้าพนักงานที่ดินว่าจำเลยที่ 1 เป็นหญิงหม้าย เจ้าพนักงานที่ดินจึงจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 โจทก์มีอำนาจฟ้องเรียกให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายได้

Share