คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3289/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ลูกหนี้ที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินจำนวน 7,000,000 บาท จากเจ้าหนี้และเจ้าหนี้ได้กู้ยืมเงินจำนวนเท่ากันจากธนาคาร อ. โดยปรากฏในรายงานการประชุมบริษัทของเจ้าหนี้ว่าลูกหนี้ที่ 1 ได้เสนอต่อเจ้าหนี้ว่ากำลังเจรจาซื้อหุ้นโรงแรม ม. จำนวนหนึ่งเพื่อนำมาขายให้เจ้าหนี้ ที่ประชุมของบริษัทเจ้าหนี้มีมติตกลงรับซื้อ และให้ลูกหนี้ที่ 1 กู้ยืมเงินจากเจ้าหนี้จำนวน 7,000,000 บาท ก่อน โดยมีโฉนดที่ดินของลูกหนี้ที่ 1 เป็นประกัน เมื่อขายหุ้นได้แล้วให้เอาเงินค่าหุ้นชำระคืนให้เจ้าหนี้พร้อมดอกเบี้ย แต่ที่ประชุมบริษัทของเจ้าหนี้เห็นว่า การที่ลูกหนี้ที่ 1 จะซื้อหุ้นโรงแรมดังกล่าวมาขายให้เจ้าหนี้และการจะเรียกให้ลูกหนี้ที่ 1 ชำระหนี้คงมีปัญหาจึงมีมติให้เจ้าหนี้ติดต่อขอกู้เงินจำนวน 7,000,000 บาท จากธนาคาร อ. โดยให้ใช้ที่ดินของลูกหนี้ที่ 1 เป็นหลักประกันและให้แจ้งลูกหนี้ที่ 1 ทราบ ต่อมาวันที่21 มกราคม 2529 ลูกหนี้ที่ 1 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันเงินกู้ของเจ้าหนี้จำนวน 7,000,000 บาท ต่อธนาคาร อ. แม้หนี้เงินกู้ทั้งสองรายจะเป็นหนี้คนละส่วนกัน แต่สาเหตุแห่งการกู้ยืมเงินมีส่วนเกี่ยวพันกัน และลูกหนี้ที่ 1ได้แจ้งให้เจ้าหนี้ทราบว่าไม่สามารถชำระหนี้เงินกู้แก่เจ้าหนี้ได้ เพราะได้นำเงินไปซื้อหุ้นหมดแล้ว และยังขายหุ้นไม่ได้ การที่เจ้าหนี้ได้ขอกู้เงินจากธนาคาร อ.เท่าจำนวนเงินที่ลูกหนี้ที่ 1 กู้จากเจ้าหนี้ โดยให้ลูกหนี้ที่ 1 จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเป็นประกันเงินกู้ของเจ้าหนี้ต่อธนาคาร อ. ทั้งตามข้อตกลงในสัญญากู้ระบุว่า ถ้าลูกหนี้ที่ 1 ผิดสัญญากู้ยืมเงินก็ให้เจ้าหนี้จัดการจดทะเบียนโอนโฉนดที่ดินของลูกหนี้ที่ 1 เป็นกรรมสิทธิ์ของตนได้ทันทีหรือทำการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เห็นสมควรตามหนังสือมอบอำนาจของลูกหนี้ที่ 1 ที่ให้ไว้ ประกอบกับสัญญากู้มีกำหนดเวลาชำระหนี้ 1 ปี ซึ่งครบกำหนดชำระในวันที่ 16 กรกฎาคม 2529 แต่เจ้าหนี้ได้กู้เงินจากธนาคาร อ. เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2529 ก่อนวันที่หนี้เงินกู้ของลูกหนี้ที่ 1 ถึงกำหนดชำระ แสดงว่าเมื่อลูกหนี้ที่ 1 ไม่สามารถชำระได้แทนที่เจ้าหนี้จะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินของลูกหนี้ที่ 1 เป็นกรรมสิทธิ์ของตนตามข้อตกลงในสัญญากู้หรือให้ลูกหนี้ที่ 1 กู้ยืมเงินจากธนาคารเองโดยจำนองที่ดินเป็นประกันแล้วเอาเงินมาชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ เจ้าหนี้กลับเลือกเอาทางไปกู้ยืมเงินจากธนาคาร อ. เอง โดยให้ลูกหนี้ที่ 1 จำนองที่ดินเป็นประกันเช่นนี้จึงต้องฟังว่า เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จำนวน 7,000,000 บาท ที่ลูกหนี้ที่ 1กู้ยืมไปจากเจ้าหนี้ตามสัญญากู้แล้วตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม 2529 หนี้ต้นเงินกู้จำนวน 7,000,000 บาท จึงระงับไป ส่วนดอกเบี้ยในต้นเงินจำนวน7,000,000 บาท อัตราร้อยละ 15 ต่อปีตามสัญญากู้นั้น ลูกหนี้ที่ 1 ไม่เคยชำระแก่เจ้าหนี้เลย ลูกหนี้ที่ 1 จึงต้องรับผิดใช้ดอกเบี้ยให้เจ้าหนี้ในต้นเงินจำนวน 7,000,000 บาท นับแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2528 ซึ่งเป็นวันกู้จนถึงวันที่เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ต้นเงินกู้คืนคือวันที่ 21 มกราคม 2529 ส่วนดอกเบี้ยภายหลังจากนั้นจนถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ตามพระราช-บัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 100 เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิได้รับเพราะหนี้ต้นเงินกู้ได้ระงับไปแล้ว

Share