คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3288/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ลงโทษจำเลยความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา 350 จำคุก 8 เดือน ความผิดฐานนี้จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218วรรคแรก จำเลยฎีกาว่าหลังจากศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องความผิดฐานฉ้อโกงและมีคำสั่งว่า คดีมีมูลแล้ว โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องโดยเพิ่มเติมข้อหาและฐานความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ขึ้นมาใหม่ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต คำสั่งดังกล่าวมีผลทำให้คดีมีมูลในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้โดยปริยาย โดยที่ศาลชั้นต้นมิได้ทำการไต่สวนมูลฟ้องความผิดฐานนี้เป็นการขัดต่อ ป.วิ.อ. โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้ทำการไต่สวนมูลฟ้องความผิดฐานโกงเจ้าหนี้แล้วจึงมีคำสั่งว่าคดีโจทก์มีมูลในความผิดฐานนี้ ฎีกาของจำเลยจึงเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ย่อมมีผลอย่างเดียวกับการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว
ฎีกาจำเลยที่ว่า โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีแพ่งเมื่อเดือนมีนาคม 2533 โจทก์ย่อมจะต้องไปขอตรวจสอบหลักฐานที่ดินต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อนำมาใช้ในการสืบพยานในคดีดังกล่าว และที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมี น.ส.3 ตามกฎหมายจะต้องมีการประกาศต่อสาธารณชนเป็นเวลา 30 วัน ก่อนทำการโอนปรากฏจากสารบัญด้านหลัง น.ส.3 ที่ดินพิพาทว่ามีการโอนเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม2533 แสดงว่าจะต้องมีการประกาศคำขอต่อบุคคลทั่วไปตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมหรือต้นเดือนเมษายน 2533 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโจทก์ควรจะทราบแล้วว่ามีการขอโอนสิทธิในที่ดินดังกล่าว เนื่องจากเป็นเวลาช่วงเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องคดีแพ่ง เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องโดยเพิ่มเติมข้อหาและฐานความผิดตาม ป.อ. มาตรา 350เกิน 3 เดือน นับแต่วันเกิดเหตุคดีโจทก์จึงขาดอายุความแล้วนั้น ปัญหาว่าโจทก์รู้เรื่องความผิดตั้งแต่เมื่อใดเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่นำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมาย จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเช่นกัน
ฎีกาจำเลยที่ว่า โจทก์นำสืบไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามสถานที่เกิดเหตุที่โจทก์ขอแก้ไขคำฟ้องการกระทำของจำเลยขาดเจตนากระทำผิด และขอให้ศาลรอการลงโทษนั้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานและการลงโทษของศาลอุทธรณ์ ถือว่าเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเช่นกัน
แม้คดีจะฎีกาได้เฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย แต่ถ้าหากศาลฎีกาเห็นว่าศาลล่างลงโทษจำเลยหนักเกินไปก็ย่อมมีอำนาจที่จะพิพากษาลงโทษจำเลยให้เหมาะสมก่ความผิดได้

Share