คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1404/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า การทะเลาะวิวาทระหว่างโจทก์กับ ฉ.เป็นการโต้เถียงเพียงเล็กน้อยไม่ร้ายแรง หลังจากเลิกรากันแล้ว อ.ได้ขึ้นมาบนรถจึงมีการทะเลาะวิวาทกันระหว่าง อ.กับ ฉ.อีกครั้งหนึ่ง และ อ.ได้ทำร้ายร่างกายฉ. โจทก์มิได้เป็นผู้กระทำ ถือได้ว่าโจทก์มิได้ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในกรณีร้ายแรง จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยและค่าเสียหายให้แก่โจทก์นั้น เป็นการอุทธรณ์โต้แย้งว่าโจทก์ได้ร่วมกับ อ.บุตรชายโจทก์ทำร้าย ฉ.ดังที่ศาลแรงงานวินิจฉัยหรือไม่ เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่วินิจฉัย
อุทธรณ์โจทก์ที่ว่า โจทก์ได้ทำงานเกินเวลาทำงานปกติ และทำงานในวันหยุดตามประเพณีและวันหยุดพักผ่อนประจำปีนั้น เป็นการโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลแรงงานที่ว่าโจทก์นำสืบไม่ถึงในส่วนที่เกี่ยวกับเวลาทำงานที่เกินจากปกติตลอดจนส่วนที่เกี่ยวกับการทำงานในวันหยุดตามประเพณีหรือในวันหยุดพักผ่อนประจำปีศาลแรงงานจึงไม่กำหนดค่าทำงานและค่าจ้างให้ตามที่โจทก์เรียกร้อง อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวนี้เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง
ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์วางเงินประกันจำนวน5,000 บาท ต่อจำเลยเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2526 โจทก์ได้ทำงานมาตลอดตั้งแต่ปี 2526 จนถึงปี 2535 ในเดือนที่มีการเลิกจ้างจำเลยแสดงหนังสือรับสภาพหนี้ที่โจทก์รับสภาพต่อจำเลยในช่วงปี 2534 นอกจากนี้มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นอีกตามเอกสารหมาย ล.3 พยานโจทก์ไม่อาจหักล้างเรื่องหนี้ที่เกิดจากการกระทำของโจทก์ในระหว่างการทำงานให้จำเลย ซึ่งโจทก์ต้องรับผิดชอบ จำเลยจึงมีสิทธิยึดหน่วงเงินประกันได้ อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าโจทก์ได้ผ่อนชำระหนี้ให้จำเลยไปแล้ว ความเสียหายตามเอกสารหมาย ล.3 ไม่ยืนยันว่าโจทก์จะต้องรับผิดทางแพ่ง จึงเป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 ศาลฎีการับวินิจฉัยให้ไม่ได้

Share