แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พนักงานเดินหมายได้นำหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องไปส่งให้จำเลยทั้งสามตามภูมิลำเนาในคำฟ้องแล้ว ไม่พบจำเลยทั้งสาม บ้านปิดประตูใส่กุญแจ ไม่มีผู้ใดทราบว่าคนในบ้านออกไปที่ใด จึงส่งไม่ได้ ทนายโจทก์ยื่นคำแถลงขอให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยทั้งสาม ณ ภูมิลำเนาตามฟ้องอีกครั้ง หากส่งไม่ได้ขอให้ปิดหมายและสำเนาคำฟ้อง โดยโจทก์แนบหนังสือรับรองการจดทะเบียนประกอบข้ออ้าง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันเดียวกันว่า “หนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัทจำเลยที่ 1 นายทะเบียนระบุว่าบริษัทจำเลยที่ 1 นายทะเบียนได้ขีดชื่อออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้างตามความในมาตรา 1246 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว น่าเชื่อว่าจำเลยทั้งสามไม่มีภูมิลำเนาตามฟ้อง ให้โจทก์ยืนยันหลักฐานภูมิลำเนาของจำเลยทั้งสามใหม่ภายใน 15 วัน การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้รอไว้ก่อน” คำสั่งดังกล่าวเป็นการกำหนดกระบวณพิจารณาอย่างหนึ่งของศาล เมื่อทนายโจทก์ลงลายมือชื่อในคำแถลงซึ่งมีหมายเหตุไว้ด้วยว่า ข้าพเจ้ารอฟังคำสั่งอยู่ถ้าไม่รอถือว่าทราบแล้ว ย่อมถือได้ว่าทนายโจทก์ได้ทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นในวันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งนั้นแล้ว ศาลชั้นต้นไม่จำต้องส่งคำสั่งดังกล่าวให้ทนายโจทก์ทราบซ้ำอีก ดังนั้นการที่ทนายโจทก์มิได้ดำเนินการตามกระบวนพิจารณาภายในกำหนดเวลาตามคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าว จึงเป็นการทิ้งฟ้องตาม ป .วิ.พ. มาตรา 174 (2)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและกู้ยืมเงินจากโจทก์โดยมีจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ เป็นผู้ค้ำประกันและจดทะเบียนจำนองที่ดินเพื่อประกันหนี้ ต่อมาจำเลยที่ ๑ค้างชำระหนี้ โจทก์ทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองแล้ว แต่จำเลยทั้งสามไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชำระหนี้ หากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตาม ขอให้ยึดทรัพย์จำนองพร้อมสิ่งปลูกสร้างขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์ หากขายทอดตลาดไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์จนครบ
ศาลชั้นต้นสั่งรับคำฟ้อง หมายส่งสำเนาให้จำเลย ให้โจทก์นำส่งภายใน๗ วัน ถ้าส่งไม่ได้ให้โจทก์แถลงเพื่อดำเนินการต่อไปภายในกำหนด ๑๕ วัน นับแต่วันส่งไม่ได้หากไม่แถลงถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง วันที่ ๑๔ มิถุนายน ๒๕๓๑ พนักงานเดินหมายได้นำหมายเรียกสำเนาคำฟ้องไปส่งให้แก่จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ตามภูมิลำเนาในคำฟ้อง แต่ไม่พบจำเลยทั้งสามพบแต่บ้านปิดประตูใส่กุญแจ ไม่มีผู้ใดทราบว่าคนในบ้านออกไปที่ใด จึงส่งหมายให้จำเลยทั้งสามไม่ได้ วันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๓๑ ทนายโจทก์ยื่นคำแถลงว่า ขอให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยทั้งสามอีกครั้ง หากส่งไม่ได้ขอให้ปิดหมายและสำเนาคำฟ้อง เพราะจำเลยทั้งสามมีภูมิลำเนาอยู่ตามฟ้อง โดยโจทก์แนบหนังสือรับรองการจดทะเบียนท้ายคำแถลงประกอบข้ออ้าง ศาลชั้นต้นสั่งในวันเดียวกันนั้นว่า “หนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัทจำเลยที่ ๑ ออก ณวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๓๑ นายทะเบียนระบุว่า บริษัทจำเลยที่ ๑ นายทะเบียนได้ขีดชื่อออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้าง ตามความในมาตรา ๑๒๔๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้วน่าเชื่อว่าจำเลยทั้งสามไม่ได้มีภูมิลำเนาตามฟ้อง ให้โจทก์ยืนยันหลักฐานภูมิลำเนาของจำเลยทั้งสามใหม่ภายในกำหนด ๑๕ วัน การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้รอไว้ก่อน” วันที่ ๒๕กรกฎาคม ๒๕๓๑ เจ้าหน้าที่ศาลรายงานว่า เกินกำหนดเวลาที่ศาลมีคำสั่งแล้ว โจทก์ไม่ปฏิบัติตามศาลชั้นต้นสั่งว่า “โจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลกำหนด ถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๔ (๒) ให้จำหน่ายคดี”
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยมีว่า โจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด อันถือได้ว่าโจทก์ทิ้งฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ตามข้อเท็จจริงในสำนวนศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งในวันเดียวกับที่ทนายโจทก์ยื่นคำแถลงนั้นว่า “หนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัทจำเลยที่ ๑ ออก ณ วันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๓๑ นายทะเบียนระบุว่าบริษัทจำเลยที่ ๑ นายทะเบียนได้ขีดชื่อออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้างตามความในมาตรา ๑๒๔๖ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว น่าเชื่อว่าจำเลยทั้งสามไม่มีภูมิลำเนาตามฟ้อง ให้โจทก์ยืนยันหลักฐานภูมิลำเนาของจำเลยทั้งสามใหม่ภายใน ๑๕ วัน การส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้รอไว้ก่อน” คำสั่งดังกล่าวเป็นการกำหนดกระบวนพิจารณาอย่างหนึ่งของศาล เมื่อทนายโจทก์ลงลายมือชื่อในคำแถลงซึ่งมีหมายเหตุไว้ด้วยว่า ข้าพเจ้ารอฟังคำสั่งอยู่ถ้าไม่รอถือว่าทราบแล้ว กรณีดังกล่าวย่อมถือได้ว่าทนายโจทก์ได้ทราบคำสั่งของศาลชั้นต้นในวันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งนั้นแล้ว ศาลชั้นต้นไม่จำต้องส่งคำสั่งดังกล่าวให้ทนายโจทก์ทราบซ้ำอีก ดังนั้นการที่ทนายโจทก์มิได้ดำเนินการตามกระบวนพิจารณาภายในกำหนดเวลาตามคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าว จึงเป็นการทิ้งฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๑๗๔ (๒)
พิพากษายืน.