แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่โจทก์ร่วมแบ่งที่พิพาทให้แก่จำเลย แล้วจำเลยนำที่พิพาทมาขายคืนให้แก่โจทก์ร่วม ก็เป็นเรื่องที่จำเลยจำหน่ายจ่ายโอนซึ่งสิทธิอันหากจะมีภายหน้าในการสืบมรดกผู้ที่มีชีวิตอยู่ ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 1619 หนังสือสัญญาการซื้อขายจึงตกเป็นโมฆะ
เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่อาจรับฟังได้โดยแน่ชัดว่า โจทก์ร่วมมีสิทธิครอบครองที่พิพาทแต่ผู้เดียว ที่พิพาทยังคงเป็นมรดกของ พ. การที่จำเลยซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งของ พ. มีสิทธิรับมรดกแทนที่ ป.ผู้เป็นมารดา เข้ายึดถือครอบครองในที่พิพาท จึงเป็นเพียงโต้แย้งสิทธิโจทก์ร่วมในทางแพ่ง ฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิดฐานบุกรุก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบุกรุกเข้าไปปลูกบ้านและถากถาง ขุดดิน ในที่ดินตามน.ส.๓ ก. เลขที่ ๔๕๖๒ ซึ่งเป็นของนายหมื่นผู้เสียหาย เพื่อถือการครอบครองที่ดินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายบางส่วน อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของผู้เสียหายโดยปกติสุข ทั้งนี้ โดยจำเลยมีมีดพร้าเป็นอาวุธ ขู่เข็ญว่าจะใช้ประทุษร้ายผู้เสียหายขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๒, ๓๖๕, ๓๓ ริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายหมื่น ตลับนาค ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๖๕ (๓) ประกอบด้วยมาตรา ๓๖๒ ให้ลงโทษจำคุก ๑ ปี คืนมีดพร้าของกลางแก่เจ้าของ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้นำสืบโต้แย้งกันฟังได้ว่า นายแพนางหมา บิดามารดาของโจทก์ร่วมมีบุตร ๔ คน คือ ๑. นายพันธ์ ๒. นางปาน ๓. นางแหวนและ ๔. โจทก์ร่วม นางปานมีบุตร ๔ คน คือ ๑. นางสมร ๒. จำเลย ๓. นายอุทัย และ๔. นายสนิท เดิมที่ดินตาม น.ส.๓ ก. (ซึ่งมีที่พิพาทรวมอยู่ด้วย) เป็นของนายแพบิดาโจทก์ร่วมและนางปาน นายแพถึงแก่ความตายเมื่อปี ๒๕๒๖ นางปานมารดาจำเลยถึงแก่ความตายก่อนนายแพ หลังจากนางปานถึงแก่ความตายจำเลยอาศัยอยู่กับโจทก์ร่วมตลอดมา จนกระทั่งมีภริยาจึงย้ายไปอยู่อำเภอเกษตรสมบูรณ์ ต่อมาจำเลยกลับมาปลูกกระท่อมและต้นไม้ในที่พิพาท คดีมีปัญหาว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์ร่วมเป็นพยานเบิกความว่า หลังจากนายแพถึงแก่ความตายแล้วพี่น้องของโจทก์ร่วมไม่มีผู้ใดต้องการที่ดินแต่เอาเงินค่าที่ดินจากโจทก์ร่วมแทน โจทก์ร่วมแบ่งที่ดินให้แก่บุตรของนางปานทุกคน สำหรับจำเลยนำที่พิพาทที่โจทก์ร่วมแบ่งให้มาขายคืนให้แก่โจทก์ร่วมในราคา ๑๒,๐๐๐ บาท ตามสำเนาหนังสือสัญญาการซื้อขาย ศาลฎีกาเห็นว่าสัญญาซื้อขายทำตั้งแต่วันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๒๔ ก่อนนายแพถึงแก่ความตายถึง ๒ ปี ในสัญญาก็ไม่ได้ระบุโดยแจ้งชัดว่าที่ดินตามสัญญาคือที่พิพาท ทั้งนายชิด ปลื้มญาติ พยานโจทก์ผู้ทำหนังสือสัญญาการซื้อขายก็ไม่ได้ยืนยันว่า ที่ดินตามสัญญาคือที่พิพาท น่าเชื่อว่าที่ดินที่จำเลยทำสัญญาขายให้แก่โจทก์ร่วมเป็นที่ดินคนละแปลงกับที่พิพาท จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยนำที่พิพาทมาขายคืนให้แก่โจทก์ร่วม อย่างไรก็ตามแม้จะฟังได้ว่าโจทก์ร่วมแบ่งที่พิพาทให้แก่จำเลย แล้วจำเลยนำที่พิพาทมาขายคืนให้แก่โจทก์ร่วมก็เป็นเรื่องที่จำเลยจำหน่ายจ่ายโอนซึ่งสิทธิอันหากจะมีในภายหน้าในการสืบมรดกผู้ที่มีชีวิตอยู่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๑๙ หนังสือสัญญาการซื้อขายจึงตกเป็นโมฆะ เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่อาจรับฟังได้โดยแน่ชัดว่า โจทก์ร่วมมีสิทธิครอบครองที่พิพาทแต่ผู้เดียว ที่พิพาทยังคงเป็นมรดกของนายแพ การที่จำเลยซึ่งเป็นทายาทคนหนึ่งของนายแพมีสิทธิรับมรดกแทนที่นางปานผู้เป็นมารดา เข้ายึดถือครอบครองในที่พิพาท จึงเป็นเพียงโต้แย้งสิทธิโจทก์ร่วมในทางแพ่ง ฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิดฐานบุกรุก
พิพากษายืน.