คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6750/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ให้ออกจากที่ดินพิพาทการดำเนินคดีดังกล่าวโจทก์ได้แต่งตั้งให้จำเลยที่ 8 เป็นทนายความดำเนินคดีแทนและได้ให้อำนาจจำเลยที่ 8 ถอนฟ้องได้ด้วย จำเลยที่ 8 จึงมีอำนาจถอนฟ้องได้ในขอบเขตที่ได้รับมอบอำนาจ หากการกระทำของจำเลยที่ 8ก่อให้เกิดความเสียหายก็เป็นความผิดของโจทก์ในการเลือกบุคคลเป็นตัวแทนโจทก์จะอ้างว่าจำเลยที่ 8 กับพวกฉ้อฉลโจทก์ทำให้การถอนฟ้องเป็นโมฆียะกรรมเมื่อบอกล้างแล้วจึงตกเป็นโมฆะไม่ผูกพันโจทก์หาได้ไม่ การที่จำเลยที่ 8 ถอนฟ้องในคดีดังกล่าวจึงผูกพันโจทก์โดยชอบด้วยกฎหมายส่วนการกระทำของจำเลยที่ 8 หากเป็นละเมิดก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ประการใด โจทก์ก็ชอบที่จะว่ากล่าวแก่จำเลยที่ 8 ต่างหากได้เมื่อการที่จำเลยที่ 8 ถอนฟ้องเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายแล้วโจทก์ย่อมไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการถอนฟ้องได้
การที่โจทก์มีคำขอให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 พร้อมด้วยบริวารออกจากที่ดินพิพาทก็มีความหมายเท่ากับโจทก์ฟ้องเรียกเอาที่ดินพิพาทคืนเป็นของตนนั่นเอง เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่าผู้ที่ครอบครองย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์ คงได้เฉพาะสิทธิครอบครองเท่านั้น ถ้าผู้ครอบครองถูกแย่งการครอบครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ที่ครอบครองจะต้องฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองภายใน 1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง ถ้าไม่ฟ้องภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ผู้ครอบครองย่อมหมดสิทธิที่จะฟ้องเรียกเอาคืนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง และข้อเท็จจริงปรากฏจากคำฟ้องของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ยังคงครอบครองที่ดินพิพาทนับแต่ที่โจทก์ฟ้องเป็นครั้งแรกซึ่งฟ้องในปี 2531 ตลอดมา และโจทก์นำคดีนี้มาฟ้องวันที่ 10 สิงหาคม2533 เป็นเวลาเกินกว่า 1 ปี นับแต่เวลาที่โจทก์ถูกแย่งการครอบครองแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเอาคืนซึ่งการครอบครองที่ดินพิพาท หาใช่โจทก์จะใช้สิทธิฟ้องเรียกเอาสิทธิครอบครองคืนเมื่อใดก็ได้เพราะไม่มีกำหนดอายุความไม่

Share