แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏจากการนำสืบของโจทก์และจำเลยว่าในเขตของหน่วยงานบริหารราชการส่วนท้องถิ่นขององค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรีจำเลยที่ 1 นั้น มีลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์คล้ายคลึงกันกับทรัพย์สินของโจทก์ มีการให้เช่ากันอันสามารถนำค่าเช่ามาเทียบเคียงในการประเมินค่ารายปีทรัพย์สินของโจทก์ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์การประเมินค่ารายปีของทรัพย์สิน ลงวันที่ 30มีนาคม 2535 ได้ พนักงานเจ้าหน้าที่จึงต้องประเมินค่ารายปีแห่งทรัพย์สินขึ้นเองให้เห็นได้ว่าเป็นจำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ ตามความหมายที่บัญญัติไว้ในมาตรา 8 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475โดยหาฐานในการคำนวณจากมูลค่าของทรัพย์สินที่ให้เช่า ด้วยเหตุผลที่ว่าการให้เช่าเป็นการหาประโยชน์จากทรัพย์สิน ดังนั้น มูลค่าของทรัพย์สินที่ให้เช่าย่อมเป็นสิ่งที่ผู้ให้เช่าต้องคำนึงถึงและนำมาใช้เป็นฐานของการคำนวณหาจำนวนเงินค่าเช่าได้กล่าวคือ ทรัพย์สินมีมูลค่าน้อยก็สมควรได้ค่าเช่าน้อยกว่าทรัพย์สินที่มีมูลค่ามากและค่าเช่านั้นเกิดขึ้นตามระยะเวลาของการเช่าหรือระยะเวลาในการใช้ทรัพย์ที่เช่า ใกล้เคียงกับประโยชน์ที่ผู้ฝากเงินได้รับดอกเบี้ยจากธนาคารตามฐานของจำนวนเงินที่ฝากประกอบระยะเวลาที่ฝาก ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยจึงนำมาเทียบเคียงเพื่อใช้ในการคำนวณหาจำนวนค่าเช่าได้ด้วย โดยเหตุนี้การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีจำเลยที่ 2 อาศัยมูลค่าทรัพย์สินคูณด้วยอัตราผลประโยชน์ร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีที่เทียบเคียงมาจากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารโดยที่ได้ลดมูลค่าของทรัพย์สินในส่วนที่เป็นเครื่องจักรลงให้ประมาณกึ่งหนึ่งและลดค่ารายปีลงเหลือหนึ่งในสามของค่ารายปีของทรัพย์สินนั้นรวมทั้งส่วนควบดังกล่าวแล้วนั้น ย่อมเป็นการประเมินค่ารายปีขึ้นโดยประกอบด้วยกฎเกณฑ์อันสมควรและมีเหตุผล โจทก์ซึ่งเป็นฝ่ายกล่าวอ้างว่าการชี้ขาดตามการประเมินดังกล่าวไม่ชอบหาได้นำสืบให้เห็นว่ามีกฎเกณฑ์ใดที่สมควรและมีเหตุผลสามารถนำมาเทียบเคียงในการคำนวณหาค่าเช่าอันสมควรสำหรับทรัพย์สินรายพิพาทของโจทก์ได้เหมาะสมไปกว่านี้ ศาลจึงต้องฟังว่าค่ารายปีตามคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 เป็นค่ารายปีที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว