แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามสัญญาเช่ามีข้อความว่า เมื่อครบกำหนดอายุแล้วผู้ให้เช่าต้องให้ผู้เช่าเช่าอยู่ต่อไป โดยผู้ให้เช่าจะต่ออายุสัญญาเช่าให้ทุก ๆ 3 ปี และเรียกเก็บเงินค่าเช่าเพิ่มเป็นสองเท่าของที่กรมธนารักษ์เรียกเก็บ ข้อสัญญานี้เป็นคำมั่นของผู้ให้เช่าว่าจะให้จำเลยเช่าต่อไป ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ทราบก่อนจะสนองรับว่า ป.ผู้ให้เช่าถึงแก่กรรมไปก่อนแล้ว กรณีจึงไม่ตกอยู่ในบังคับแห่ง ป.พ.พ.มาตรา 360 ต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ.มาตรา 169 วรรคสอง มาใช้บังคับคำมั่นของ ป.จึงไม่เสื่อมเสียไป มีผลผูกพันโจทก์ผู้รับโอนให้ต้องปฏิบัติตามให้จำเลยเช่าตึกแถวพิพาทต่อไปตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในสัญญาเดิม
ที่โจทก์ฎีกาว่า โดยพฤตินัยและตามหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนจำเลยต้องรู้หรือควรรู้ว่า ป.ถึงแก่กรรมไปก่อนแล้วเพราะเป็นคนในอำเภอเมือง-สมุทรสงครามด้วยกัน มีประชากรไม่มากน่าจะทราบข่าวคราวความเคลื่อนไหวของกันและกันดีเป็นฎีกาข้อเท็จจริง
เมื่อฟังว่าคำมั่นของ ป.มีผลผูกพันโจทก์ให้ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาเช่า การที่โจทก์เรียกเก็บค่าเช่า ค่าตอบแทนเกินไปกว่าที่กำหนดไว้ในสัญญาข้อดังกล่าว โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา
ที่โจทก์ฎีกาว่า สัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.4 ขัดต่อความสงบ-เรียบร้อยของประชาชน เพราะเกิดความไม่เป็นธรรมแก่โจทก์และทายาทผู้รับโอนต่อ ๆ ไปในภายหน้าให้ต้องปฏิบัติตามไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุด ไม่ควรมีผลบังคับแม้ปัญหานี้โจทก์จะมิได้ยกขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ โจทก์ก็ยกขึ้นอ้างอิงในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 249 วรรคท้าย
เจ้าของทรัพย์สินจะให้เช่าทรัพย์สินของตนในลักษณะใดก็ได้เป็นเรื่องระหว่างผู้ให้เช่ากับผู้เช่าโดยเฉพาะ ไม่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก จึงหาได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนไม่