แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ขณะเกิดเหตุซึ่งเป็นวันที่จำเลยที่ 1 ไปยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ 2 เพื่อให้จำเลยที่ 2 ในฐานะนายทะเบียนผู้รับแจ้งตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2499 มีคำสั่งย้ายชื่อโจทก์ซึ่งมีชื่อเป็นผู้อาศัยอยู่ในทะเบียนบ้านเลขที่ 96/2 อันเป็นทะเบียนบ้านของจำเลยที่ 1 ออกจากทะเบียนบ้านดังกล่าวไปอยู่ในทะเบียนคนบ้านกลางซึ่งเป็นวันเดียวกับวันที่จำเลยที่ 2 มีคำสั่งอนุญาตให้ย้ายชื่อโจทก์ออกจากทะเบียนบ้านของจำเลยที่ 1 ได้ เป็นช่วงเวลาที่พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2499 ใช้บังคับอยู่ ยังไม่ถึงวันที่พระราช-บัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 มีผลใช้บังคับ การที่จะพิจารณาว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ต้องพิจารณาถึงสิทธิและหน้าที่ของโจทก์และจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2499เป็นเกณฑ์
โจทก์พักอาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ 96/1 มาตั้งแต่ปี 2527 แสดงว่าโจทก์ได้ออกจากบ้านเลขที่ 96/2 อันเป็นบ้านที่โจทก์มีชื่อเป็นผู้อาศัยอยู่ในทะเบียนหลังนั้น นับถึงวันที่จำเลยที่ 1 ไปยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ 2 เพื่อให้ย้ายชื่อโจทก์ออกจากบ้านของจำเลยที่ 1 เป็นเวลาประมาณ 7 ปี ถือว่าโจทก์ได้ย้ายที่อยู่จากบ้านซึ่งมีชื่ออยู่ในทะเบียนไปอยู่ที่อื่นแล้ว จำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าบ้านมีหน้าที่แจ้งการย้ายที่อยู่ของโจทก์ต่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันย้ายออก เมื่อขณะที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ 2 ให้ย้ายชื่อโจทก์ออกจากทะเบียนบ้านของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 กำลังมีข้อพิพาทอยู่กับโจทก์เกี่ยวด้วยเรื่องที่จำเลยที่ 1 ฟ้องขับไล่โจทก์ให้ออกจากบ้านเลขที่ 96/1 อันเป็นบ้านอีกหลังหนึ่งของจำเลยที่ 1 อยู่ การที่จำเลยที่ 1 ไม่แจ้งย้ายชื่อของโจทก์จากทะเบียนบ้านเลขที่ 96/2 ไปอยู่ในทะเบียนบ้านเลขที่ 96/1 ย่อมไม่เป็นการจงใจทำละเมิดต่อโจทก์
การที่จำเลยที่ 2 ในฐานะนายทะเบียนผู้รับแจ้งมีคำสั่งอนุญาตให้ย้ายชื่อโจทก์ออกจากทะเบียนบ้านเลขที่ 96/2 ของจำเลยที่ 1 ไปไว้ในทะเบียนบ้านกลางหรือทะเบียนคนบ้านกลางตามระเบียบสำนักงานกลางทะเบียนราษฎร กรมการปกครอง ว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎรสำหรับสำนักทะเบียนในเขตปฏิบัติการตามโครงการจัดทำเลขประจำตัวประชาชน พ.ศ. 2528 ข้อ 52ถือว่าจำเลยที่ 2 ได้สั่งการไปตามอำนาจหน้าที่โดยถูกต้องตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ ย่อมไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์