คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2628/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 3 ดำรงตำแหน่งหัวหน้ากองสวัสดิการของโจทก์ตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2519 ถึงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2519 แต่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 3เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2528 แม้จะฟังว่าโจทก์ฟ้องคดีภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนก็ตาม แต่เมื่อนับถึงวันที่จำเลยที่ 3 ทำละเมิดก็ต้องหมายถึงว่าในขณะที่จำเลยที่ 3 ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งหัวหน้ากองสวัสดิการของโจทก์นั่นเอง ดังนั้นการทำละเมิดของจำเลยที่ 3 ต่อโจทก์ช่วงตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2519 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2519 ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนฟ้อง 10 ปี ฟ้องของโจทก์ย่อมขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่งโจทก์คงฟ้องจำเลยที่ 3 ได้เฉพาะการทำละเมิดในช่วงระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1กรกฎาคม 2519 ถึงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2519 ซึ่งเมื่อนับถึงวันฟ้องแล้วยังไม่เกิน10 ปี เท่านั้น
โจทก์ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 3 ที่ 4ที่ 6 ที่ 8 และที่ 9 ปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยความบกพร่องและโดยความประมาทเลินเล่อไม่ปฏิบัติตามระเบียบที่โจทก์กำหนดไว้อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ ซึ่งเป็นฎีกาโต้เถียงในข้อเท็จจริง ไม่ใช่ฎีกาโต้เถียงในเรื่องแปลความหมายของระเบียบหรือคำสั่งของโจทก์อันจะเป็นข้อกฎหมาย เมื่อโจทก์ฎีกาให้จำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 6ที่ 8 และที่ 9 รับผิดต่อโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดไม่เกิน 140,645 บาท จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดไม่เกิน70,820 บาท จำเลยที่ 6 ร่วมรับผิดไม่เกิน 64,145 บาท จำเลยที่ 8 ร่วมรับผิดไม่เกิน 97,835 บาท และจำเลยที่ 9 ร่วมรับผิดไม่เกิน 104,400 บาท แยกจากกัน จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีการะหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 6ที่ 8 และที่ 9 แต่ละรายไม่เกิน 200,000 บาท คดีโจทก์จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง
หนี้ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 10 และที่ 11 ชดใช้ให้แก่โจทก์จำนวน 264,735 บาท และจำนวน 277,320 บาท ตามลำดับ เป็นหนี้ที่ถึงที่สุดแล้วโดยคำพิพากษาของศาลชั้นต้น และหนี้ทั้งสองจำนวนดังกล่าวแม้จะเป็นหนี้ร่วมกับจำเลยอื่นอันเกิดจากมูลละเมิดก็ตาม แต่เกิดจากการกระทำที่แตกต่างกันและศาลชั้นต้นก็ได้แยกความรับผิดที่จำเลยอื่นจะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 10 และที่ 11 ไว้โดยชัดแจ้งแล้วว่าจำเลยคนไหนจะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 10 และที่ 11 ต่อโจทก์ จึงเป็นหนี้ที่แบ่งแยกได้ เมื่อหนี้ที่จำเลยที่ 10 และที่ 11 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ร่วมกับจำเลยอื่นที่อุทธรณ์เป็นหนี้ที่แบ่งแยกได้ คดีของจำเลยที่ 10และที่ 11 จึงไม่ได้ตกอยู่ในบังคับแห่ง ป.วิ.พ.มาตรา 245(1) ศาลอุทธรณ์จะอาศัยอำนาจตามกฎหมายดังกล่าวพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 10 และที่ 11ที่คดีถึงที่สุดโดยคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้วเพื่อมิให้จำเลยที่ 10 และที่ 11ต้องรับผิดชดใช้เงินแก่โจทก์ด้วยไม่ได้
ฎีกาของจำเลยที่ 9 ในข้อที่ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องและคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 9 ขาดอายุความนั้น เมื่อตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์จำเลยที่ 9 ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ฎีกาของจำเลยที่ 9 ทุกข้อจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง

Share