คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1158/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้จะฟังว่าตามใบขนสินค้าขาเข้าในคำฟ้องของโจทก์ จำเลยนำเข้ามาเกินกว่า 10 ปี นับถึงวันฟ้องแล้วก็ตาม แต่ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนพ.ศ.2520 มาตรา 55 วรรคท้าย ให้เริ่มนับอายุความเมื่อพ้นหนึ่งเดือนนับแต่วันทราบคำสั่ง ซึ่งคำสั่งดังกล่าวก็คือคำสั่งเพิกถอนสิทธิและประโยชน์เกี่ยวกับภาษีอากรจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนตามมาตรา 55 วรรคหนึ่ง เมื่อปรากฏว่าจำเลยทราบคำสั่งเพิกถอนสิทธิและประโยชน์เกี่ยวกับภาษีอากรจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2528 การนับอายุความจึงเริ่มนับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่จำเลยทราบคำสั่ง คิดถึงวันฟ้องยังไม่ครบสิบปี คดีของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 10 วรรคสาม
จำเลยได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน จำเลยนำเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับเครื่องจักรเข้ามาในราชอาณาจักรโดยได้รับยกเว้นภาษีอากรเพื่อผลิตกล่องบรรจุตลับเทปคาสเซทและตลับเทปคาสเซท ต่อมาวันที่ 28 มีนาคม 2528 จำเลยถูกคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเพิกถอนสิทธิและประโยชน์ทั้งหมดโดยเหตุไม่ส่งผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้ออกไปจำหน่ายในต่างประเทศ จึงถือได้ว่าจำเลยไม่เคยได้รับยกเว้นภาษีอากรมาแต่ต้น ดังนั้นจำเลยจึงต้องเสียอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักร และอุปกรณ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับเครื่องจักรโดยถือสภาพของราคา และอัตราภาษีอากรที่เป็นอยู่ในวันนำเข้าเป็นเกณฑ์ในการคำนวณภาษีอากรแก่โจทก์ทั้ง 17 ใบขนที่จำเลยยังไม่นำเงินมาชำระตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 มาตรา 55วรรคหนึ่ง
หลังจากกรมศุลกากรโจทก์ที่ 1 ได้รับหนังสือจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนว่าได้เพิกถอนสิทธิประโยชน์ที่ให้แก่จำเลยทั้งหมดโดยให้เรียกเก็บภาษีอากรที่ได้รับยกเว้นทั้งหมด โจทก์ที่ 1 ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ประเมินอากร หน่วยส่งเสริมการลงทุนของโจทก์ที่ 1 จัดเก็บภาษีจากจำเลย เจ้าหน้าที่ดังกล่าวได้รวบรวมเอกสารใบขนสินค้าได้จำนวน 20 ใบขนประเมินภาษีอากรแล้วได้แจ้งให้จำเลยทราบและให้มาชำระภาษีพร้อมกับได้ส่งแบบแจ้งการประเมินอากรโดยได้แจ้งภาษีอากรขาเข้า ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลตามที่จำเลยสำแดงไว้ในใบขนสินค้าขาเข้าขณะนำสินค้าเข้ามาโดยแจ้งให้จำเลยมาชำระค่าภาษีภายใน 15 วัน นับแต่จำเลยได้รับหนังสือกรณีเช่นนี้ย่อมถือได้ว่ามีการประเมินภาษีการค้าโดยเจ้าพนักงานประเมินตามป.รัษฎากร มาตรา 18 ประกอบด้วยมาตรา 87 (2) แล้ว หากจำเลยเห็นว่าการประเมินไม่ถูกต้องอย่างไรก็ชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์ตามที่บัญญัติไว้ในป.รัษฎากร มาตรา 30 เสียก่อนแต่จำเลยก็ไม่ได้อุทธรณ์ต่อโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 แต่อย่างใด เมื่อจำเลยไม่ได้อุทธรณ์ตามที่ ป.รัษฎากรบัญญัติไว้การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินที่เรียกเก็บภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลจากจำเลยย่อมถึงที่สุด จำเลยจึงไม่มีสิทธิยกขึ้นต่อสู้อันเป็นการใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อศาลได้
จำเลยต้องชำระอากรขาเข้า ภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาลตามใบขนสินค้าขาเข้าแต่ละฉบับ รวมทั้งสิ้น 17 ฉบับ ให้แก่โจทก์ทั้งสองแต่จำเลยยังมิได้ชำระ จำเลยจึงต้องชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าในอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือนของค่าอากรขาเข้าที่ต้องชำระในแต่ละใบขนสินค้าขาเข้านับแต่วันที่ได้ส่งมอบของให้จำเลยรับไปจนกว่าจำเลยชำระให้เสร็จสิ้นตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 112 จัตวา นอกจากนี้จำเลยจะต้องชำระเงินเพิ่มภาษีการค้าในอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระในแต่ละใบขนสินค้าขาเข้านับเมื่อพ้นสิบห้าวันถัดจากเดือนภาษีจนกว่าจะชำระให้เสร็จสิ้น แต่ทั้งนี้เงินเพิ่มภาษีการค้านี้จะต้องไม่เกินกว่าจำนวนภาษีที่ต้องชำระตาม ป.รัษฎากร มาตรา 89 ทวิ วรรคหนึ่ง และวรรคสี่ และจำเลยจะต้องชำระเงินเพิ่มภาษีบำรุงเทศบาลอีกร้อยละสิบของเงินเพิ่มภาษีการค้าที่ต้องชำระตาม พ.ร.บ.รายได้เทศบาล พ.ศ.2497 มาตรา 12

Share