คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5494/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อจำเลยให้การเพียงว่า โจทก์จงใจขัดคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมาย แต่เป็นคำสั่งเรื่องอะไร เหตุเกิดวันเดือนปีใดไม่ปรากฏ และที่ว่าโจทก์กระทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตนั้น ก็ไม่ชัดแจ้งว่าโจทก์ทำสิ่งใดที่เรียกว่าไม่ถูกต้องหรือไม่สุจริต คำให้การจำเลยไม่มีประเด็นเรื่องดังกล่าว อุทธรณ์จำเลยที่ 2 ข้อนี้ ดังนี้ที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า แม้ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงว่าทางนำสืบของจำเลยฟังไม่ได้ว่าโจทก์เป็นลูกจ้างทดลองงานที่จำเลยจะเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแล้วยังจะต้องพิจารณาต่อไปด้วยว่าระหว่างที่โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยนั้น โจทก์จงใจขัดคำสั่งของจำเลยอันชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หรือกระทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตหรือไม่ จึงเป็นการอุทธรณ์ในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงาน ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
เมื่อข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานวินิจฉัยมาเป็นที่ยุติว่า โจทก์ได้รับเงินเดือนเดือนละ 10,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน และโจทก์ฟ้องเรียกสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจากจำเลยที่ 2 เพียง 57 วัน ซึ่งเป็นเงิน19,000 บาท ดังนั้น ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 2 จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 20,000 บาท แก่โจทก์ จึงเป็นการเกินคำขอ
ส่วนอุทธรณ์จำเลยที่ 2 ข้อ 3.1 ที่ว่า โจทก์เข้าทำงานกับจำเลยที่ 2 วันที่ 10 กรกฎาคม 2540 จำเลยที่ 2 ได้บอกเลิกจ้างโจทก์ในวันที่ 1 สิงหาคม2540 หากจำเลยที่ 2 ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ก็ชอบที่จะกำหนดสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์เท่ากับจำนวนสินจ้างที่จะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้าจำนวน 1 เดือน เป็นเงินเพียง 10,000 บาทที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า2 เดือน จึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า ป.พ.พ.มาตรา 582 วรรคหนึ่ง กำหนดให้บอกกล่าวล่วงหน้าเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวใดคราวหนึ่งเพื่อให้มีผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไป จำเลยบอกเลิกจ้างโจทก์วันที่ 1สิงหาคม 2540 แต่เนื่องจากค่าจ้างกำหนดจ่ายกันทุกวันสิ้นเดือน ฉะนั้น ระยะเวลาการบอกกล่าวล่วงหน้าของจำเลยจะชอบด้วยกฎหมายต่อเมื่อจำเลยเลิกจ้างในวันที่30 กันยายน 2540 ซึ่งเป็นกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไป การที่จำเลยที่ 2 บอกเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2540 กำหนดระยะเวลาการบอกกล่าวล่วงหน้าของจำเลยจึงไม่ครบถ้วนตามกฎหมาย ที่ศาลแรงงานภพิพากษาให้จำเลยต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 2 เดือน จึงชอบแล้ว

Share