คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5880/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 10 และที่ 11 มิได้เป็นนายจ้างของโจทก์มิได้เกี่ยวกับการเลิกจ้าง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 10 และที่ 11 ให้รับผิดในส่วนนี้เกี่ยวกับการเลิกจ้าง
ตาม พ.ร.ฎ.ยกเลิกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การเหมืองแร่พ.ศ.2520 พ.ศ.2528 มาตรา 4 องค์การเหมืองแร่จำเลยที่ 1 ซึ่งได้ถูกยกเลิกตามมาตรา 3 ให้พึงถือว่ายังคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชีและมาตรา 5 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมตั้งบุคคลขึ้นคณะหนึ่งเป็นคณะกรรมการผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมจำเลยที่ 11 ได้มีคำสั่งแต่งตั้งจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 เป็นคณะกรรมการผู้ชำระบัญชีจำเลยที่ 1 และให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 มีอำนาจแต่งตั้งคณะผู้ช่วยผู้ชำระบัญชีเพื่อดำเนินการชำระบัญชีได้ และการที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 มีคำสั่งจ้างโจทก์เป็นผู้ช่วยผู้ชำระบัญชีก็เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.ฎ.ดังกล่าวเพื่อให้การดำเนินการชำระบัญชีจำเลยที่ 1 เสร็จสิ้นไป หากพนักงาน ลูกจ้าง และคนงานผู้ใดหมดหน้าที่หรือหมดความจำเป็นที่จะปฏิบัติงานต่อไป จำเลยก็ย่อมมีสิทธิเลิกจ้างเป็นรายบุคคลได้ดังนี้ เมื่องานเกี่ยวกับการชำระบัญชีหมดลง กรณีไม่จำเป็นที่จะต้องจ้างโจทก์เพื่อปฏิบัติงานต่อไป การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามพ.ร.ฎ.ดังกล่าวที่ให้อำนาจไว้ จึงไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ามิใช่เป็นหนี้เงินที่กฎหมายบังคับให้นายจ้างต้องจ่ายเมื่อเลิกจ้าง นายจ้างจะตกเป็นผู้ผิดนัดรับผิดชำระดอกเบี้ยต่อเมื่อลูกจ้างทวงถาม เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้เมื่อใดจำเลยจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในต้นเงินดังกล่าวในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ค่าจ้าง
สำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่โจทก์มิได้หยุดและค่าชดเชยเป็นหนี้เงินที่กฎหมายบัญญัติให้นายจ้างต้องจ่ายเมื่อเลิกจ้างโดยไม่ต้องทวงถามดังนั้น จำเลยผู้เป็นนายจ้างจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินแต่ละจำนวนดังกล่าวนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ดังกล่าว
คำฟ้องโจทก์ระบุอัตราค่าจ้างของโจทก์ที่ 3 ที่ 4 และที่ 8ไว้แล้ว และจำเลยมิได้ให้การปฏิเสธอัตราค่าจ้างของโจทก์แต่ละคนดังกล่าวไว้ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี และค่าชดเชยแก่โจทก์ผิดพลาดจากข้อเท็จจริงในสำนวน ศาลฎีกาแก้ไขให้ถูกต้องได้
เมื่อปรากฏว่าโจทก์ที่ 5 คำนวณค่าชดเชยตามคำขอท้ายฟ้องมาไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อความเป็นธรรมศาลฎีกาเห็นสมควรให้โจทก์ดังกล่าวได้รับค่าชดเชยในจำนวนที่ถูกต้อง
จำเลยเลิกจ้างโจทก์แล้ว การที่โจทก์มาทำงานภายหลังวันที่จำเลยได้เลิกจ้างโจทก์แล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับค่าจ้างในวันดังกล่าว
ศาลฎีกาเคยย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยในประเด็นเรื่องค่าบำเหน็จแล้ว แต่ศาลแรงงานไม่ได้วินิจฉัย เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความ ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนอีกได้
จำเลยจ้างโจทก์มีกำหนดระยะเวลาตามสัญญาจ้างเพียงฉบับละ 1 เดือน เป็นการจ้างชั่วคราวเพื่อให้การชำระบัญชีของจำเลยที่ 1เสร็จสิ้นไป หากพนักงานลูกจ้างและคนงานผู้ใดหมดหน้าที่หรือหมดความจำเป็นที่จะพึงปฏิบัติงานต่อไป จำเลยก็จะเลิกจ้างเป็นรายบุคคลไป แต่ตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ว่าด้วยกองทุนบำเหน็จผู้ปฏิบัติงานในองค์การเหมืองแร่ ข้อ 5กำหนดให้ผู้ปฏิบัติงานซึ่งทำงานติดต่อกันมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี เมื่อออกจากงานไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ นอกจากถูกลงโทษ ปลดออก หรืออื่น ๆ มีสิทธิได้รับบำเหน็จเท่ากับเงินเดือนหรือค่าจ้างเดือนสุดท้ายที่พ้นจากตำแหน่งคูณด้วยระยะเวลาที่ได้ปฏิบัติงานคิดเป็นปีและโจทก์จะทำงานติดต่อกันมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีก็ตาม แต่เมื่อการนับเวลาทำงานตามข้อ 6 ให้ถือหลักเกณฑ์โดยนับแต่วันที่ผู้ปฏิบัติงานได้รับการบรรจุในอัตราประจำ ดังนี้การที่จำเลยจ้างโจทก์ให้ทำงานในระหว่างการชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 เป็นการชั่วคราวมีระยะเวลาจ้างครั้งละ 1 เดือน หาได้บรรจุในอัตราประจำไม่ โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 หนังสือเรื่องโครงสร้างเงินเดือนของพนักงานรัฐวิสาหกิจที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ปรับโครงสร้างเงินเดือนของพนักงานรัฐวิสาหกิจใหม่ ประกอบบัญชีโครงสร้างอัตราเงินเดือนของพนักงานและลูกจ้างรัฐวิสาหกิจและโครงสร้างเงินเดือนกับโครงสร้างเงินเดือนที่ปรับใหม่มีระบุอัตราเงินเดือน ขั้นเงินเดือนถึง 53 ขั้น และมีขั้นวิ่ง ซึ่งการปรับโครงสร้างเงินเดือนของพนักงานลูกจ้างรัฐวิสาหกิจนั้นใช้กับพนักงานลูกจ้างที่ทำงานประจำโดยมีการบรรจุในอัตราประจำ แต่เมื่อจำเลยจ้างโจทก์ให้ทำงานในระหว่างการชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 เป็นการชั่วคราว โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับการปรับค่าจ้างตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว
ศาลแรงงานพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและค่าชดเชย โดยไม่ระบุให้จำเลยคนใดต้องรับผิดนั้น ศาลฎีกาแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้

Share