คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 52/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หุ้นพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของหุ้นทั้งหมดที่จำเลยได้ลงชื่อในแบบโอนลอยให้แก่ ธ.ไป หาก ธ.ประสงค์ต้องการมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้น ก็จะต้องลงลายมือชื่อเป็นผู้รับโอนแล้วไปแก้ทะเบียนรายชื่อผู้ถือหุ้นตามระเบียบได้ และถ้า ธ.ไม่ต้องการมีรายชื่อเป็นผู้ถือหุ้น ธ.สามารถโอนหุ้นดังกล่าวให้แก่บุคคลอื่นต่อไปได้ เมื่อปรากฏต่อมาอีกว่า ธ.ได้แบ่งโอนหุ้นบางส่วนให้แก่บุตรสาวคนหนึ่งซึ่งได้ดำเนินการเปลี่ยนและโอนใบหุ้นเป็นชื่อของตนแล้ว จึงเป็นเครื่องชี้ให้เห็นชัดว่า การโอนหุ้นระหว่างจำเลยและ ธ.แบบโอนลอยนั้น คู่กรณีมีเจตนามุ่งให้ความสะดวกเป็นประโยชน์แก่ผู้รับโอนที่จะเลือกปฏิบัติได้ว่า หากประสงค์จะมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นเป็นการโอนที่เสร็จเด็ดขาดก็จะต้องปฏิบัติตามแบบแห่งกฎหมายให้ถูกต้องต่อไป แต่หากยังไม่ประสงค์จะให้มีผลเสร็จเด็ดขาด ก็อาจโอนลอยต่อให้บุคคลอื่นไปปฏิบัติต่อไปได้ กล่าวโดยชัดแจ้งคือ เป็นการแบ่งขั้นตอนการปฏิบัติตามแบบแห่งนิติกรรมที่กฎหมายกำหนดโดยฝ่ายจำเลยผู้โอนได้ปฏิบัติตามขั้นตอนฝ่ายตนแล้วมอบให้ฝ่ายผู้รับโอนไปเลือกปฏิบัติภายหลังให้เสร็จสมบูรณ์ต่อไปโดยลำพังได้ การโอนลอยหุ้นให้แก่ ธ.จึงเป็นเพียงขั้นตอนที่จำเลยได้ปฏิบัติหน้าที่ฝ่ายของตนแล้วเป็นขั้นตอนแรกเท่านั้น ยังมิได้เป็นขั้นตอนการโอนที่เสร็จเด็ดขาด และความมุ่งหมายของ ป.พ.พ.มาตรา 1129วรรคสอง ที่บัญญัติว่า การโอนหุ้นชนิดระบุชื่อ ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและลงลายมือชื่อของผู้โอนกับผู้รับโอน มีพยานคนหนึ่งอย่างน้อยลงชื่อรับรองลายมือชื่อเป็นโมฆะนั้นเป็นการกำหนดแบบของการโอนหุ้นว่าจะต้องทำอย่างไรจึงจะได้มีหลักฐานการโอนที่แน่นอนเท่านั้น หาใช่เป็นแบบของการซื้อขายหุ้นไม่ ผู้ซื้อหุ้นที่มิได้ทำการโอนให้ถูกต้องตามบทบัญญัติดังกล่าว ยังไม่อาจอ้างว่าเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ยังไม่อาจใช้สิทธิในฐานะผู้ถือหุ้นในบริษัทตามที่ ป.พ.พ.บัญญัติไว้เท่านั้น จึงมิอาจถือเป็นการขัดต่อกฎหมายและตกเป็นโมฆะไม่ โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนต่อในช่วงสุดท้ายยังอยู่ในฐานะผู้รับโอนสิทธิในหุ้นพิพาทที่จะดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปตามกฎหมายได้

Share