คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5022/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้สัญญาเช่าซื้อข้อ 7 ก. และข้อ 8 ขัดต่อประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยฉบับลงวันที่ 16 มกราคม 2530 ข้อ 3(7)ก. ที่ออกตามความในมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 เพราะตามประกาศดังกล่าวได้กำหนดไว้ว่าจะต้องระบุในสัญญาเช่าซื้อว่า การที่จะถือว่าผู้เช่าซื้อผิดสัญญาเช่าซื้อจะต้องผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ 2 งวดติด ๆ กัน และให้ผู้ให้เช่าซื้อต้องบอกกล่าวแก่ผู้เช่าซื้อให้ชำระเงินค่าเช่าซื้อที่ติดค้างภายใน 30 วัน หากผู้เช่าซื้อไม่ชำระ ผู้ให้เช่าซื้อจึงจะบอกเลิกสัญญาได้ก็ตาม แต่ข้อกำหนดในการเลิกสัญญาเช่าซื้อและการกลับเข้าครอบครองทรัพย์ที่ให้เช่าซื้อเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสัญญาเช่าซื้อ แม้ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การให้เช่าซื้อสังหาริมทรัพย์บางประเภทของบริษัทเงินทุนจะกำหนดวิธีการเลิกสัญญาและการกลับเข้าครอบครองทรัพย์ที่ให้เช่าซื้อไว้โดยเฉพาะเพื่อควบคุมธุรกิจเงินทุนหลักทรัพย์ไม่ให้เอาเปรียบลูกค้าในการเลิกสัญญาเช่าซื้อ แต่ก็แสดงให้เห็นเจตนาของกฎหมายว่า ในชั้นแรกหากผู้ให้เช่าซื้อฝ่าฝืนข้อกำหนดในการเลิกสัญญา เมื่อผู้ให้เช่าซื้อชำระค่าปรับตามมาตรา 70 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ พ.ศ.2522 แล้วผู้ให้เช่าซื้อก็ยังสามารถที่จะกลับมาปฏิบัติให้ถูกต้องตามข้อกำหนดของประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยได้ ดังนั้น แม้สัญญาเช่าซื้อจะระบุเงื่อนไขในการเลิกสัญญาแตกต่างไปจากประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าว ก็คงไม่มีผลใช้บังคับเฉพาะข้อกำหนดในการเลิกสัญญาเช่าซื้อเท่านั้น เพราะสามารถแยกส่วนที่สมบูรณ์ออกจากส่วนที่ไม่สมบูรณ์ได้ หาทำให้สัญญาเช่าซื้อตกเป็นโมฆะทั้งฉบับไม่
สำหรับค่าเสียหายที่สัญญาเช่าซื้อระบุว่า เมื่อสัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงเพราะผู้เช่าซื้อผิดนัด นอกจากยอมให้ริบเงินที่ชำระไปแล้วยังต้องชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระทั้งหมดด้วยนั้น ข้อสัญญาข้อนี้เป็นการกำหนดค่าเสียหายวิธีหนึ่งมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ และไม่ขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชนเช่นกัน
ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การให้เช่าซื้อสังหาริมทรัพย์บางประเภทของบริษัทเงินทุนออกตามความในมาตรา 31 แห่งพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์พ.ศ.2522 ข้อ 3 (7) ก. กำหนดวิธีการเลิกสัญญาว่า “กรณีผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ใช้เงินรายงวดสองงวดติด ๆ กัน บริษัทเงินทุนจะเลิกสัญญาเช่าซื้อ ริบบรรดาเงินที่ได้รับชำระแล้ว และกลับเข้าครองรถยนต์ที่ให้เช่าซื้อได้ต่อเมื่อบริษัทเงินทุนมีหนังสือบอกกล่าวผู้เช่าซื้อให้ใช้เงินรายงวดที่ค้างชำระนั้นภายในเวลาอย่างน้อยสามสิบวันนับแต่วันที่ผู้เช่าซื้อได้รับหนังสือ และผู้เช่าซื้อละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามหนังสือบอกกล่าวนั้น” ซึ่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวได้บัญญัติขึ้นเพื่อควบคุมธุรกิจเงินทุนหลักทรัพย์ไม่ให้เอาเปรียบลูกค้าในการเลิกสัญญาเช่าซื้อ และตามมาตรา 70แห่ง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์พ.ศ.2522 ได้กำหนดโทษปรับในการฝ่าฝืน มาตรา 31 ไว้ด้วยจึงเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน การที่โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินรายงวดที่ค้างชำระรวม 6 งวด ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือ และบอกเลิกสัญญาจึงไม่เป็นการบอกเลิกสัญญาโดยชอบและไม่มีผลทำให้สัญญาเช่าซื้อเลิกกัน เมื่อสัญญาเช่าซื้อยังไม่เลิกกัน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง

Share