คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 447/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนังสือมอบอำนาจมีข้อความระบุว่า บริษัทโจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ตามกฎหมายของประเทศสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านเป็นบริษัทของรัฐบาลสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน อ.ผู้ลงนามในหนังสือมอบอำนาจได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์ตั้งแต่ พ.ศ.2528 กระทรวง-การต่างประเทศของประเทศสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านได้รับรองหนังสือมอบอำนาจไว้และได้มีการรับรองโดยสถานเอกอัครราชฑูตไทย ประจำประเทศสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านด้วย จำเลยมิได้นำสืบโต้แย้งให้เห็นเป็นประการอื่น แม้หนังสือมอบอำนาจจะได้ทำในเมืองต่างประเทศและไม่ได้ให้กงสุลสยามเป็นพยานก็ตาม แต่กรณีไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าหนังสือมอบอำนาจนั้นจะไม่ใช่หนังสือมอบอำนาจอันแท้จริง การยื่นหนังสือมอบอำนาจนั้นจึงไม่ต้องปฏิบัติตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 47 วรรคสาม แห่งป.วิ.พ. แม้ว่าตามหนังสือราชกิจจานุเบกษาของประเทศสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านประกาศว่า อ.เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์นั้น ลงวันที่ 6 มิถุนายน 2535ภายหลังที่บุคคลดังกล่าวได้ลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจก็ตาม แต่หนังสือราชกิจจา-นุเบกษาดังกล่าวอ้างถึงการประชุมของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2534ซึ่งแต่งตั้งกรรมการบริษัทโจทก์ให้ดำรงตำแหน่งต่อไปเป็นเวลา 3 ปี อ.ก็เป็นคนหนึ่งที่ได้รับแต่งตั้ง มิได้หมายความว่าก่อนหน้านั้น อ.มิได้เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์ เพราะกระทรวงการต่างประเทศของประเทศสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านก็ได้ตรวจลงตรารับรองลายมือชื่อกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์ที่ลงไว้ท้ายหนังสือมอบอำนาจว่าเป็นลายมือชื่อของ อ.ด้วย
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ตามสัญญาประนี-ประนอมยอมความ โจทก์ได้บรรยายฟ้องถึงมูลกรณีที่ได้มีการทำสัญญาดังกล่าวระหว่างโจทก์กับจำเลยมาด้วยว่า จำเลยเป็นหนี้ค่าเสียหายที่เรือของโจทก์ต้องเสียเวลาจอดรอ จึงได้ทำสัญญาประนีประยอมยอมความขึ้น โดยโจทก์ยอมให้จำเลยผ่อนชำระหนี้เป็นงวด ๆ ภายในระยะเวลาที่กำหนด จำเลยชำระหนี้ให้โจทก์เพียง 2 งวด แล้วผิดนัดไม่ชำระอีก จึงขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ดังกล่าว ทั้งได้มีการแนบสำเนาสัญญาประนีประนอมยอมความฉบับดังกล่าวมาท้ายคำฟ้องอีกด้วย การที่สัญญาดังกล่าวกระทำกันในต่างประเทศ จะต้องใช้กฎหมายประเทศใดบังคับหรือไม่อย่างไร หาใช่ข้อที่โจทก์จำเป็นจะต้องบรรยายมาในคำฟ้องด้วยไม่ เพราะหากจำต้องใช้กฎหมายต่างประเทศปรับแก่คดี ก็เป็นข้อเท็จจริงที่อาจนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์ชอบด้วย ป.วิ.พ.มาตรา 172 วรรคสอง แล้ว หาเคลือบคลุมไม่
จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียนในประเทศไทย มีภูมิลำเนาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร แม้สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยจะทำขึ้นในต่างประเทศ และจำเลยปฏิบัติผิดสัญญาประนี-ประนอมยอมความดังกล่าว โจทก์ซึ่งเป็นบริษัทจำกัดที่จดทะเบียนในต่างประเทศย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ศาลแพ่งอันเป็นศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลได้ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 4 (1)
จำเลยได้ขายข้าวสารให้แก่บรรษัทการค้าของรัฐบาลสาธารณรัฐ-อิสลามอิหร่านในราคา เอฟ.โอ.บี โดยผู้ซื้อเป็นผู้หาเรือมาบรรทุกข้าวสารจากกรุงเทพมหานคร บรรษัทผู้ซื้อข้าวสารจากจำเลยได้ให้โจทก์นำเรือมาบรรทุกข้าวสารแต่จำเลยส่งข้าวสารลงเรือล่าช้าจึงมีหน้าที่จะต้องชำระค่าที่เรือต้องเสียเวลาจอดรอแก่โจทก์ โจทก์กับจำเลยจึงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ดังนั้นสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวมีคู่สัญญาเพียง 2 ฝ่าย คือโจทก์และจำเลยและมิได้มีเงื่อนไขว่าจำเลยจะชำระหนี้ตามสัญญาให้ก็ต่อเมื่อบรรษัทการค้าของรัฐบาลสาธารณรัฐอิสลามอิหร่านสั่งซื้อข้าวสารต่อไปจากจำเลยแล้วหักราคาซื้อขายชำระแก่โจทก์แต่อย่างใด สำหรับข้อความในสัญญาที่ว่าสัญญานี้ให้สมบูรณ์จนถึงวันที่30 กันยายน 2533 นั้น เมื่อพิเคราะห์ประกอบถึงข้อความในสัญญาและพฤติการณ์ที่คู่กรณีปฎิบัติต่อกัน โดยฝ่ายจำเลยได้มีการชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามสัญญานั้นแล้ว2 ครั้ง มีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าเพราะทางฝ่ายโจทก์ให้โอกาสจำเลยขยายเวลาเพื่อชำระหนี้รายนี้แก่โจทก์ได้จนถึงวันดังกล่าว จำเลยจึงต้องรับผิดใช้เงินที่ยังค้างชำระตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย

Share