คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2693/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทำสัญญาจองซื้อที่ดินกับจำเลยโดยได้ระบุราคาที่จองซื้อที่ดินไว้ในราคาเดียวกับที่จำเลยกำหนดไว้ในประกาศ ทั้งยังได้วางเงินมัดจำกันไว้ตามจำนวนของเงื่อนไขในประกาศของจำเลย เช่นนี้ จึงต้องถือว่าในการทำสัญญาจองซื้อที่ดิน โจทก์และจำเลยตกลงกันให้การชำระราคาที่ดินเป็นไปตามประกาศดังกล่าว
ในสัญญาจองซื้อที่ดินข้อ 3 ระบุว่า โจทก์ผู้จองจะต้องมาทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับจำเลยภายใน 30 วัน นับแต่วันที่จำเลยได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้จองมาทำสัญญา ถ้าผู้จองมิได้มาทำสัญญาให้เป็นที่เรียบร้อยภายในกำหนดเวลาดังกล่าว จำเลยจะถือว่าผู้จองผิดสัญญาและไม่มีความประสงค์จะซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวอีกต่อไป จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้และผู้จองยินยอมให้จำเลยริบเงินที่มอบไว้เป็นหลักประกันนั้น เป็นเพียงข้อตกลงเพิ่มเติมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่จะต้องมาทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกันภายใน 30 วัน นับแต่วันที่จำเลยได้มีหนังสือแจ้งให้โจทก์มาทำสัญญา หาได้เป็นการตกลงเปลี่ยนแปลงกำหนดระยะเวลาชำระเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือแต่อย่างใดไม่
ที่ดินพิพาทที่โจทก์ทำสัญญาจองซื้อกับจำเลยยังแบ่งแยกโฉนดไม่แล้วเสร็จ และโจทก์จะต้องชำระเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือทั้งหมดภายใน 6 เดือนนับแต่วันที่จำเลยได้แจ้งให้โจทก์ทราบเป็นหนังสือว่าที่ดินแปลงที่จองไว้นั้นได้แบ่งแยกโฉนดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น การที่จำเลยมีหนังสือให้โจทก์มาทำสัญญาจะซื้อจะขายพร้อมชำระราคาที่ดินส่วนที่เหลือ ซึ่งมิได้เป็นไปตามที่ได้ตกลงกัน และเป็นการเรียกร้องให้โจทก์ชำระหนี้ก่อนถึงเวลากำหนดเช่นนี้ แม้โจทก์ไม่ปฏิบัติตาม ก็จะถือว่าโจทก์ผิดสัญญาไม่ได้ จำเลยจึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ แต่ต่อมาเมื่อมีการแบ่งแยกโฉนดที่ดินเสร็จแล้วโจทก์ได้เรียกร้องให้จำเลยโอนที่ดินให้โจทก์ตามสัญญาพร้อมกับชำระราคาที่ดินให้แก่จำเลยแล้ว แต่จำเลยมีหนังสือบอกเลิกสัญญาจองซื้อที่ดินแก่โจทก์และริบเงินหลักประกันตามสัญญา เช่นนี้ถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ชอบที่จะบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาได้
ค่าเสียหายที่โจทก์ผู้จะซื้อเรียกร้องในกรณีที่จำเลยผู้จะขายไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทขายให้แก่โจทก์ตามสัญญาได้ อันได้แก่เงินมัดจำที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยในการทำสัญญาจองซื้อที่ดินทั้งสองฉบับและผลต่างระหว่างราคาที่ดินพิพาทตามสัญญาจองซื้อที่ดินกับราคาที่ดินพิพาทในปัจจุบันที่มีราคาสูงขึ้นนั้นเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดขึ้นแต่การไม่ชำระหนี้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยได้ ส่วนค่าเสียหายคือเงินค่าบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวกในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ ที่เรียกเก็บจากโจทก์ แม้จะเป็นเงินที่จำเลยเรียกเก็บไปเพื่อประโยชน์แก่โจทก์ด้วยก็ตาม แต่เงินจำนวนดังกล่าวโจทก์ได้ชำระไปก็โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะได้มาซึ่งที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของตนและใช้ประโยชน์ในการประกอบกิจการของโจทก์ตลอดไป เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่โอนที่ดินพิพาทให้เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามที่ตกลงกันแล้วเงินจำนวนดังกล่าวจะถือว่าเป็นประโยชน์แก่โจทก์ตามความประสงค์ของโจทก์หาได้ไม่ ดังนี้เงินค่าบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวกที่โจทก์ชำระให้จำเลยจึงถือว่าเป็นค่าเสียหายที่จำเลยจะต้องชดใช้คืนแก่โจทก์ ซึ่งโจทก์มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลยได้
โจทก์มีหนังสือฉบับลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2534 ทวงถามให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามสัญญาจองซื้อที่ดินอันเป็นการเรียกร้องให้จำเลยปฏิบัติการชำระหนี้แต่มิได้กำหนดวันให้จำเลยปฏิบัติการชำระหนี้ไว้ และต่อมาจำเลยมีหนังสือฉบับลงวันที่ 28 สิงหาคม 2534 บอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ จึงถือได้ว่าจำเลยผิดนัดในวันที่ 28 สิงหาคม 2534 โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดนับแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2534 เป็นต้นไปในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 224 วรรคแรก
ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระดอกเบี้ยคลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัย ถือว่าเป็นข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย ที่ศาลฎีกาแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 143 วรรคแรก

Share