แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้ในขณะกระทำความผิดจำเลยเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร แต่เมื่ออัยการทหารเห็นว่าเป็นคดีที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร และส่งสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการพิจารณาดำเนินคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแล้ว กรณีจึงตกอยู่ในบังคับของมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 ความเห็นของอัยการทหารที่วินิจฉัยว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจศาลทหารเป็นที่สุด แม้พนักงานอัยการจะมีความเห็นที่แตกต่างก็ไม่อาจส่งสำนวนการสอบสวนกลับคืนไปยังอัยการทหารอีกได้ และในกรณีเช่นนี้ ศาลพลเรือนจะปฏิเสธไม่ประทับฟ้องคดีดังกล่าวโดยเหตุว่าเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลทหารอีกมิได้ ตามมาตรา 15 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 91, 291, 300 พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 92, 93, 143, 151, 157 พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มาตรา 11, 39 พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 64
จำเลยให้การปฏิเสธ
ก่อนเริ่มสืบพยานศาลชั้นต้นสอบโจทก์และจำเลย ได้ความว่าขณะเกิดเหตุจำเลยยังรับราชการทหารประจำการเป็นทหารเกณฑ์ กรมทหารราบที่ 21 กองทหารรักษาพระองค์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร โดยเข้ารายงานตัวรับราชการตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน 2539 และคดีนี้อัยการทหารได้พิจารณาแล้ว เห็นว่า จำเลยกระทำโดยประมาทโดยมีพลเรือนคือ นายเซียงผู้ตายเป็นฝ่ายประมาทด้วย จึงส่งสำนวนให้โจทก์ดำเนินคดีนี้
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า จำเลยไม่ใช่ตัวการร่วมกับพลเรือนตาม ป.อ. มาตรา 83 คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลพลเรือนที่จะพิจารณาพิพากษา จึงให้เพิกถอนคำสั่งประทับฟ้องแล้วสั่งใหม่ว่าไม่รับฟ้อง ให้คืนตัวจำเลยแก่โจทก์เพื่อดำเนินการฟ้องจำเลยต่อศาลที่มีอำนาจ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า คดีของโจทก์อยู่ในอำนาจศาลพลเรือนที่จะพิจารณาพิพากษาหรือไม่ ได้ความจากคำบรรยายฟ้องของโจทก์ว่า จำเลยซึ่งเป็นทหารขับขี่รถจักรยานยนต์โดยมิได้จัดให้มีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยจากรถ ขับรถโดยมิได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน และขับรถโดยประมาทปราศจากความระมัดระวัง เป็นเหตุให้ชนรถจักรยานยนต์ของนายเซียง เป็นเหตุให้นายเซียงถึงแก่ความตายและนางสาวนารีซึ่งนั่งซ้อนท้ายรถของจำเลยได้รับอันตรายสาหัส และจากการไต่สวนของศาลชั้นต้นปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2541 ได้ความว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยเป็นพลทหารประจำการ และคดีนี้อัยการทหารได้พิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยกระทำโดยประมาทโดยมีพลเรือน คือ นายเซียงผู้ตายเป็นฝ่ายประมาทด้วย จึงส่งสำนวนให้พนักงานอัยการโจทก์เป็นผู้ดำเนินคดี แสดงว่าอัยการทหารมีความเห็นว่า คดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ดังนั้น แม้ในขณะกระทำผิดจำเลยเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารก็ตาม แต่เมื่ออัยการทหารเห็นว่าเป็นคดีที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหารและส่งสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการพิจารณาดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแล้ว กรณีจึงตกอยู่ในบังคับของมาตรา 50 แห่ง พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. 2498 ซึ่งบัญญัติว่า “
ในกรณีเช่นนี้พนักงานอัยการจะส่งสำนวนกลับคืนไปยังอัยการทหารเพื่อให้ดำเนินคดีนั้นมิได้” แสดงว่ากฎหมายมุ่งประสงค์ให้ถือเอาความเห็นของอัยการทหารที่วินิจฉัยว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจศาลทหารเป็นที่สุด แม้พนักงานอัยการจะมีความเห็นที่แตกต่าง ก็ไม่อาจส่งสำนวนการสอบสวนกลับคืนไปยังอัยการทหารอีก ทั้งนี้ก็เพื่อมิให้เกิดปัญหาข้อขัดแย้งเรื่องเขตอำนาจศาลในการดำเนินคดีที่มีปัญหาคาบเกี่ยวว่าคดีอยู่ในเขตอำนาจของศาลใดระหว่างศาลทหารกับศาลพลเรือน และเมื่อพนักงานอัยการได้รับสำนวนการสอบสวนที่ส่งมาตามบทบัญญัติดังกล่าวก็ต้องพิจารณาฟ้องร้องคดีนั้นต่อศาลพลเรือนโดยถือว่าเป็นคดีที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลทหาร ทั้งนี้ เป็นไปตามมาตรา 15 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า คดีที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ให้ดำเนินคดีในศาลพลเรือน และในกรณีเช่นนี้ศาลพลเรือนจะปฏิเสธไม่ประทับฟ้องคดีดังกล่าวโดยเหตุว่าเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลทหารอีกมิได้ ดังนั้น เมื่ออัยการทหารมีความเห็นว่าคดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหารแล้ว กรณีจึงอยู่ในอำนาจของศาลพลเรือนที่จะพิจารณาพิพากษาคดี
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 และคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้เพิกถอนคำสั่งประทับฟ้องและไม่รับฟ้องโจทก์ และให้ศาลชั้นต้นประทับฟ้องแล้วดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป.