คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 814/2493

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สามีภรรยาเป็นเจ้าของทรัพย์ร่วมกันจึงร่วมกันทำพินัยกรรมฉบับเดียวกันยกทรัพย์ในหลานนั้น เป็นการขัดกับ พ.ร.บ.ว่าด้วยการทำพินัยกรรม 2475 มาตรา 23 ที่ว่า “บุคคลสองคนหรือมากกว่านั้นจะทำพินัยกรรมโดยเอกสารฉบับเดียวกันไม่ได้”
สามีภรรยาร่วมกันทำพินัยกรรมฉบับเดียวกันยกทรัพย์หลายอย่าง ๆ ให้หลานรวมทั้งโจทก์ด้วย สำหรับโจทก์ได้ที่ดินและตึกภายหลังสามีผู้เดียวทำพินัยกรรมฉบับหลัง เพิกถอนข้อความในพินัยกรรมเดิมบางข้อในข้อที่ยกทรัพย์ให้หลานอื่นบางคน แล้วมีข้อความว่า ส่วนข้อความอื่น ๆ ในพินัยกรรมนั้นคงเป็นไปตามเดิมดังนี้ เมื่อพินัยกรรมฉบับแรกไม่สมบูรณ์ เพราะต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการทำพินัยกรรม 2475 แล้วก็ต้องถือ่าไม่มีการยกที่ดินและตึกให้โจกท์ด้วย ส่วนพินัยกรรมฉบับหลังแม้จะสมบูรณ์ก็ไม่มีข้อความว่าได้ยกที่ดินและตึกให้โจทก์ เป็นแต่กล่าวว่า ส่วนข้อความอื่น ๆ ในพินัยกรรมนั้นคงเป็นไปตามเดิม ซึ่งเมื่อพินัยกรรมเดิมใช้ไม่ได้แล้ว จะอ้างข้อความในเอกสารอื่นซึ่งมิใช่พินัยกรรมมาเป็นส่วนหนึ่งของพินัยกรรม จึงไม่ได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้ที่ดินและตึก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าที่ดิน เรือนตึก ราคาประมาณ ๔๐,๐๐๐ บาท เป็นของนายไพโรจน์(โจทก์) โดยนายบุนเลี่ยม นางเบียว ได้ทำพินัยกรรมให้ตามสำเนาพินัยกรรม ลงวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๔๗๖ และสำเนาพินัยกรรม ลงวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๔๘๖ นางเบี่ยวตายก่อนนายบนเอี่ยม ๆ ตายเมื่อ ๓ ปีมานี้ ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลขอขายที่ดินและตึกรายนี้ จำเลยผู้อาศัยอยู่คัคค้านว่า เป็นตึกของจำเลย ศาลสั่งให้จำเลยฟ้อง จำเลยก็ไม่ฟ้อง ครั้งเมื่อศาลสั่งให้โจทก์ขายที่ดินเรือนตึกได้ จำเลยไปคัดค้านที่อำเภออีก ทำให้โจทก์ขายให้แก่ผู้ซื้อไม่ได้ภายในกำหนดสัญญา โจทก์ต้องใช้ค่าปรับเป็นค่าเสียหายแก่ผู้ซื้อ ๕,๐๐๐ บาท จึงขอให้ขับไล่จำเลยออกจากที่ดินเรือนพิพาทกับให้ใช้ค่าเสียหาย ๕,๐๐๐ บาท
จำเลยต่อสู้กรรมสิทธิและอ้างว่า พินัยกรรมไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินและตึกเป็นของโจทก์ เว้นแต่ตึกที่จำเลยก่อสร้างขึ้นจึงให้ขับไล่จำเลย
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ตึกที่จำเลยก่อสร้างขึ้นเป็นของโจทก์ด้วย โดยตกเป็นส่วนควบ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า พินัยกรรมฉบับแรกที่ลงวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๔๗๖ มีชื่อนายบุนเลี่ยม นางเบี่ยวสองคนเป็นเจ้าของทรัพย์ผู้ทำพินัยกรรมขับกับ พ.ร.บ.ว่าด้วยการทำพินัยกรรม ๒๔๗๕ มาตรา ๒๓ ซึ่งบัญญัติไว้ชัดแจ้งว่า “บุคคลสองคนหรือมากกว่านั้นจะทำพินัยกรรมโดยเอกสารฉบับเดียวกันไม่ได้”
เอกสารฉบับที่กล่าวจึงไม่ป็นพินัยกรรมที่ชอบด้วยกฎหมาย ผลจึงเท่ากับว่าไม่มีพินัยกรรมฉบับแรกเลย ส่วนพินัยกรรมฉบับหลังมีชื่อนายบุนเลี่ยมเป็นผู้ทำพินัยกรรมผุ้เดียวจึงไม่ต้องห้าม แต่พินัยกรรมฉลับหลัง หาได้มีข้อความได้ยกที่ดินและตึกพิพาทให้แก่ใครไม่ เป็นแต่กล่าวว่าส่วนข้อความอื่น ๆ ในพินัยกรรมนั้นคงเป็นไปตามเดิม ในพินัยกรรมนั้นคงเป็นไปตามเดิม เมื่อพินัยกรรมฉบับแรกไม่เป็นพินัยกรรมตาม ก.ม.แล้ว จะอ้างข้อความในเอกสารอื่นซึ่งมิใช่พินัยกรรมฉบับแรกจึงไม่ได้ ผลจึงเป็นว่าไม่ได้มีการให้ที่ดินและตึกแก่นายไพโรจน์ จึงพิพากษากลับให้ยกฟ้อง

Share