คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1800/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์รับมรดกที่ดิน 12 ไร่เศษ ราคาไม่เกินไร่ละ 800 บาท จากสามีผู้วายชนม์ตั้งแต่ พ.ศ.2488 ต่อมาระหว่าง พ.ศ.2499 -2501 โจทก์จัดทำถนนผ่ากลางที่ดินแล้วแบ่งเป็นแปลงเล็ก ๆ 27 แปลง ขายได้ราคาไร่ละ 80,000 บาท ถึง 100,000 บาทนั้น เห็นได้ว่าโจทก์ขายที่ดินโดยมุ่งให้ได้ราคาสูงที่สุดเท่านั้น มิใช่ขายเป็นทางค้าหากำไร โจทก์จึงมิใช่บุคคลผู้ประกอบการค้าอันจะต้องเสียภาษีการค้าประเภทการขายอสังหาริมทรัพย์แต่อย่างใด
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์แก้อุทธรณ์เกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ จึงให้ค่าทนายความเป็นพับไปนั้น โจทก์จะฎีกาว่า โจทก์ยื่นคำแก้อุทธรณ์ไม่เกินระยะเวลาจึงควรได้รับค่าทนายตามกฎหมายไม่ได้ เพราะเป็นฎีกาในปัญหาเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมแต่อย่างเดียว โดยมิได้ยกเหตุว่าค่าฤชาธรรมเนียมนั้นมิได้กำหนดหรือคำนวณให้ถูกต้องตามกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เป็นเจ้าของนาโฉนดที่ ๓๙๖๖ ตำบลคลองคั่น อำเภอพระโขนง เนื้อที่ ๑๘ ไร่ โดยรับมรดกจากสามีเมื่อกรกฎาคม ๒๔๘๘ โจทก์มีอาชีพทำนา ไม่ได้มีอาชีพค้าที่ดิน โจทก์ประสงค์จะได้เงินสร้างมัสยิดและไปเม็กกะ จึงให้นาวาโทศุกร เป็นตัวแทนขายนาโดยแบ่งเป็นแปลงเล็ก ๆ เพื่อขายได้เร็ว ระหว่าง พ.ศ.๒๔๙๘ ถึง ๒๕๐๑ ขายได้ ๑๓ ไร่ ๒ งาน ๔๒ ตารางวา เป็นเงิน ๑,๓๓๔,๑๒๕ บาท เหลือไว้อาศัย ๑ ไร่ นอกนั้นทำเป็นถนน ครั้น ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๔ จำเลยที่ ๑ มีหนังสือให้โจทก์เสียภาษีการค้าในการขายที่ดินเป็นเงิน ๑๘,๖๓๔.๗๕ บาท ภาษีบำรุงเทศบาล + บาท โจทก์อุทธรณ์ต่อจำเลยที่ ๒,๓,๔,๕ ซึ่งเป็นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จำเลยที่ ๒,๓,๔,๕ สั่งให้หักค่าอากรแสตมป์ซึ่งปิดเกินให้ คงให้โจทก์ชำระเพียง ๓๖,๐๖๑.๐๒ บาท ซึ่งเป็นการไม่ยอมด้วยกฎหมาย จึงอุทธรณ์ต่อศาลขอให้พิพากษาว่า โจทก์ไม่มีหน้าที่เสียภาษีการค้าและภาษีเทศบาลรายนี้ ให้โจทก์พ้นหน้าที่จะต้องเสียตามที่เรียกเก็บของจำเลยที่ ๑ และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒,๓,๔,๕ ให้ยกคำวินิจฉัยอุทธรณ์นั้นเสีย
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นผู้ประกอบการค้า ให้ประกอบการหรือดำเนินการค้าขายที่ดิน หากำร เป็นการค้าตามบัญชีอัตราภาษีการค้าข้อ ๒๐ ในประเภทขายอสังหาริมทรัพย์จึงต้องเสียภาษีตามที่คณะกรรมการชี้ขาด ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยไม่มีสิทธิประเมินให้โจทก์เสียภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาลจากการขายที่ดินโฉนดที่ ๓๙๖๖ ของโจทก์
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนแล้ว ข้อเท็จจริงได้ความตามฟ้อง คำให้การและคำแถลงรับว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนด ๓๙๖๖ เนื้อที่ ๑๖ ไร่ ๑ งาน ๓๒ ตารางวา โดยรับมรดกจากสามีผู้วายชนม์เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๘ ขณะรับมรดกนั้น ที่ดินราคาไม่เกินไร่ละ ๘๐๐ บาท ระหว่าง พ.ศ.๒๔๙๘-๒๕๐๑ โจทก์ได้ทำแผนผังจัดที่ดินผืนนี้เป็นถนนผ่ากลางเป็นเนื้อที่ประมาณ ๓ ไร่ ที่เหลือแบ่งเป็นแปลงเล็ก ๆ ๒๗ แปลง มีผู้ซื้อ ๒๘ ราย รวม ๒๖ แปลง เป็นเงิน ๑,๒๘๗,๘๒๕ บาท ขายได้ตารางวาละ ๒๐๐ บาท ถึง ๒๕๐ บาท เป็นราคาไร่ละ ๘๐,๐๐๐ บาท ถึง ๑๐๐,๐๐๐ บาท โจทก์ใช้อยู่อาศัย ๑แปลง ในการขายนั้น โจทก์มอบให้นาวาโทศุภรดำเนินการขายแทน และเป็นตัวแทนโจทก์ในการทำสัญญาซื้อขาย สัญญาซื้อขายส่วนมากทำกับผู้ซื้อที่บ้านเลขที่ ๗๗ ถนนราชดำริห์ ในเขตเทศบาลนครกรุงเทพ มีค่ารายปี ๗๒๐ บาท และเป็นที่อยู่อาศัยของนาวาโทศุภร นางสาวจามจุรีบุตรนาวาโทศุภร ได้จดทะเบียนการค้าประเภทขายของเมื่อ ๒๗ มีนาคม ๒๔๙๖ นาวาโทศุภรได้จดทะเบียนการค้าประเภทขายอสังหาริมทรัพย์เมื่อ ๓๐ พฤศจิกายน ๒๕๐๒ เพื่อขายที่ดินของคนอื่น การขายนี้นาวาโทศุภรชักชวนเพื่อนฝูงญาตมิตรมาซื้อ การตัดถนนนั้น ผู้ซื้อแต่ละรายต้องเสียค่าตัดถนนตามส่วนที่ถนนผ่านในอัตราตารางเมตรละ ๒๕ บาท นาวาโทศุภรได้ค่าบำเหน็จในการขายที่ดินจากโจทก์ ๓๐,๐๐๐ บาท ได้เสียภาษีการค้าประเภทนายหน้าไปแล้ว มีปัญหาว่า จะถือว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบการค้า ได้ประกอบหรือดำเนินกิจการค้าขายที่ดินอันเป็นทางค้าหากำร เป็นการค้าตามบัญชีอัตราภาษีการค้าข้อ ๒๐ ในประเภทการขายอสังหาริมทรัพย์ซึ่งต้องเสียภาษีตามที่จำเลยประเมินและชี้ขาดให้เรียกเก็บหรือไม่ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ระหว่างที่โจทก์ขายที่ดิน คือ พ.ศ.๒๔๙๙-๒๕๐๑ นั้น ประมวลรัษฎากร มาตรา ๗๘ (ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ.๒๔๙๖ มาตรา ๔๐ ) บัญญัติว่า “สถานการค้าหมายความว่า สถานที่หรือยานพาหนะซึ่งผู้ประกอบการค้าใช้ประกอบหรือดำเนินการค้า ไม่ว่าจะใช้ประกอบหรือดำเนินการค้า ไม่ว่าจะใช้เป็นการประจำหรือชั่วคราว ฯ “การค้า” หมายความว่า การประกอบหรือดำเนินกิจการอันเกี่ยวกับการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง หรืออาชีพตามประเภทที่กำหนดไว้ในบัญชีอัตราภาษีการค้าท้ายหมวดนี้ “ผู้ประกอบการค้า” หมายความว่า บุคคลธรรมดาคณะบุคคล หรือองค์การใด ๆ ที่ประกอบหรือดำเนินการค้าในประเทศไทย ทั้งนี้ให้หมายความรวมถึงผูทำการแทนด้วย และบัญชีอัตราภาษีการค้าท้ายหมวด + ได้กำหนดประเภทการค้าไว้ว่า ๒๐ การขายอสังหาริมทรัพย์ได้แก่การขาย ขายฝาก หรือ ให้เช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์เป็นการค้าหากำไร ให้จัดเก็บภาษีจากยอดเงินรายรับร้อยละ ๓ ซึ่งเมื่อตรวจดูบทกฎหมายดังกล่าวนี้แล้ว ศาลฎีกาไม่เห็นว่าการกระทำและพฤติการณ์ของโจทก์ต้องเสียภาษีการค้าดังจำเลยอ้าง การที่โจทก์ได้ที่ดินมาโดยทางมรดกตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๘๘ มีราคาไม่เกินไร่ละ ๘๐๐ บาท โดยมิได้ปรากฎว่าที่ดินเป็นสินค้าของสามีเจ้ามรดกมิได้ปรากฎว่าโจทก์ได้รับมาแล้วก็ดำเนินการค้าต่อจากสามี จน พ.ศ.๒๔๙๙-๒๕๐๑ โจทก์จึงจัดการต่าง ๆ เพื่อขายที่ดิน และขายได้ถึงไร่ละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท นั้น ก็แสดงเพียงว่าโจทก์ขายโดยมุ่งให้ได้ราคาสูงที่สุดเท่านั้น มิใช่ขายเป็นทางค้าหากำไร โจทก์จึงมิใช่บุคคลผู้ประกอบหรือดำเนินกิจการอันเกี่ยวกับธุระกิจการพาณิชย์หรือการอาชีพ คดีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าโจทก์มีสถานการค้าหรือไม่ ที่ศาลล่างพิพากษาว่าจำเลยไม่มีสิทธิประเมินให้โจทก์เสียภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลรายนี้จึงมีเหตุสมควร ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น
ที่โจทก์ฎีกาว่า ค่าทนายความชั้นศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์แก้อุทธรณ์เกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ จึงให้เป็นพับไปนั้น ไม่ถูกต้อง ศาลแพ่งสั่งให้โจทก์ยื่นแก้อุทธรณ์ภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันรับหมาย โจทก์ได้รับเมื่อ ๒๐ มกราคม ๒๕๐๕ วันสุดท้ายจะยื่นได้ คือ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๕ แต่เป็นวันอาทิตย์ โจทก์จึงยื่นแก้อุทธรณ์ในวันเปิดทำงานของศาลแพ่ง คือ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๕ จึงไม่เกินระยะเวลา โจทก์ควรได้รับค่าทนายความกฎหมายนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นฎีกาในปัญหาเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมแต่อย่างเดียว และมิได้ยกเหตุว่าค่าฤชาธรรมเนียมนั้นมิได้กำหนดหรือคำนวณให้ถูกต้องตามกฎหมาย จึงต้องห้ามมิให้ฎีกา
พิพากษายืน ยกฎีกาจำเลยและโจทก์

Share