คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1764/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การทำใบมอบอำนาจปลอมว่าเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินมอบให้ทำการโอนกรรมสิทธิ์แทนนั้น ไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ ถึงแม้จะใช้แบบพิมพ์ของสำนักงานที่ดินและ เจ้าพนักงานได้บันทึกว่าตรวจแล้ว ก็ตาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินโฉนดที่ ๒๖๕๖ และ + เดิมเป็นกรรมสิทธิของนายเวงปึง โจทก์ซื้อจากนายเวงปึง ๔๗๐,๐๐๐ บาท โดยมีข้อสัญญาว่า โจทก์จะใส่ชื่อผู้ใดเป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ก็ได้ นายเวงปึงได้มอบโฉนดพร้อมกับใบมอบอำนาจของสำนักงานที่ดินที่นายเวงปึง ได้ลงนามไว้ให้โจทก์ เพื่อใช้ทำการโอน ต่อมาโจทก์ได้มอบโฉนดและใบมอบอำนาจนั้นไว้กับจำเลยที่ ๑ เพื่อเป็นประกันหนี้ที่ผู้อื่นได้กู้จากจำเลยที่๑ ระหว่าง ๓๐ กันยายน ถึง ๑๓ พฤศจิกายน ๒๔๙๔ จำเลยทั้งสามกับพวกได้บังอาจทำหนังสือมอบอำนาจปลอมขึ้นทั้งฉบับ มีความว่านายเวงปึงมอบอำนาจให้จำเลยที่ ๒ (น่าจะเป็นที่ ๓) ทำนิติกรรมโอนขายที่ดิน ๒ โฉนดนั้นแทนนายเวงปึงวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๔๙๔ จำเลยที่ ๒,๓ ได้ใช้เอกสารปลอมนั้นไปจดทะเบียน โอนที่ดินโดยจำเลยที่ ๓ ขอโอนขายให้จำเลยที่ ๒ เพียง ๒ แสนบาท พนักงานที่ดินหลงเชื่อได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้ ความจริงนายเวงปึง หรือ โจทก์ไม่เคยมอบอำนาจให้จำเลยที่ ๓ โอนขายให้จำเลยที่ ๒ ทั้งนี้ โดยจำเลยมีเจตนาฉ้อโกงเอาที่ดินของโจทก์ โจทก์เพิ่งทราบการกระทำผิด ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๖๔,๒๖๕,๓๔๑,๘๓
ต่อมาโจทก์ได้รับอนุญาตให้เพิ่มเติมฟ้องว่า การกระทำของจำเลยดังกล่าว จำเลยได้นำเอกสารสิทธิให้ทางราชการเจ้าพนักงานที่ดิน ฯ ตรวจรับรองในหน้าที่ว่าเป็นใบมอบที่ใช้ได้ตามกฎหมายเป็นเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารในราชการ และเพิ่มบทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๖๖ และกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๒๒๒,๒๒๓,๒๒๔,๒๒๕,๖+,๗๐
เกี่ยวกับใบมอบอำนาจนี้ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ไม่ใช่เอกสารสิทธิหรือเอกสารราชการและเมื่อวินิจฉัยข้ออื่นด้วยแล้ว พิพากษายกฟ้อง (โดยสั่งงดการไต่สวนมูลฟ้องก่อนแล้ว)
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อที่โจทก์ฎีกาว่าคดีของโจทก์ยังไม่ขาดอายุความนั้นเห็นว่าโจทก์จะโต้แย้งว่าใบมอบอำนาจตามฟ้องนั้นเสียเอกสารสิทธิอันเป็นหนังสือราชการ หาฟังขึ้นไม่ เพราะหนังสือมอบอำนาจกู้คือเอกสารธรรมดาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่าผู้มอบหมาย (มอบ) ให้บุคคลอีกคนหนึ่งเป็นผู้มีอำนาจจัดการทำนิติกรรมแทนผู้มอบ แม้เจ้าพนักงานจะได้บันทึกว่าตรวจแล้วก็มิได้หมายความว่าเจ้าพนักงานได้ทำขึ้นหรือรับรองในความถูกต้องแท้จริงแต่อย่างใดไม่ เพราะเอกสารนั้นทำมาที่อื่นก่อนถึงเจ้าพนักงาน จึงเป็นเพียงเอกสารธรรมดา มีอายุความฟ้องร้องเพียง ๕ ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความแล้ว เมื่อคดีโจทก์ ขาดอายุความเสียแล้ว ฎีกาข้ออื่น ๆ ก็ไม่จำต้องวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share