คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 414/2493

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ผู้เช่าให้บริวารของผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกัน อาศัยอยู่ในห้องเช่า แล้วตนไปอยู่ที่อื่น ภายหลังเมื่อเลิกหุ้นส่วนกันแล้วได้ฟ้องขับไล่ผู้อาศัยนั้น ดังนี้ไม่ถือว่าเป็นการให้เช่าช่วงหรือโอนการเช่าให้อยู่แทนเด็ดขาดไม่ผิดสัญญาเช่า
เมื่อสัญญาเช่าของผู้เช่าเดิมยังไม่ระงับ แม้บริวารผู้อาศัยนั้นจะไปทำสัญญาเช่ากับผู้ให้เช่าใหม่ ก็ยังไม่มีสิทธิตามสัญญาเช่าใหม่นั้น
การที่บริวารผู้อาศัยอยู่ในห้องเช่าพิพาทโดยฝ่าฝืนคำบังคับของศาลที่สั่งขับไล่ ดังนี้จะอ้างสิทธิ ป.ม.แพ่งฯ มาตรา 543(1) มิได้ เพราะถือว่าอยู่ในลักษณะละเมิด

ย่อยาว

ได้ความว่า จำเลยได้เช่าห้องพิาพทจากพระคลังข้างที่มากกว่า ๑๐ ปีแล้ว สัญญาเช่าครั้งสุดท้ายลงวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๔๘๘ มีกำหนด ๓ ปี จำเลยกับ อ.ได้เคยเข้าหุ้นส่วนกันทำการค้าขาย โดย อ.เป็นผู้จัดการและอาศัยอยู่ในห้องนี้ ส่วนจำเลยไปอยู่ที่อื่น โจทก์ทั้ง ๒ เป็นผัวเมียกันได้เข้ามาอยู่ในห้องนี้รวมกับ อ. โดยโจทก์ที่ ๒ เป็นน้องภริยา อ. ต่อมาจำเลยกับ อ. ได้เลิกหุ้นส่วนเดิม โจทก์ที่ ๒ กับจำเลยและ อ. ได้เข้าหุ้นกันจดทะเบียนยี่ห้อใหม่แล้วเลิกกันอีก อ.ไม่ยอมออกจากห้องจนจำเลยต้องฟ้องจึงยอมออก ส่วนโจทก์ที่ ๒ ไม่ยอมออกศษลได้ไต่สวนสั่งว่า โจทก์ที่ ๒ เป็นบริวารของ อ.ให้ขับไล่ คดีถึงที่สุดอยู่ในระหว่างบังคับคดี พระคลังข้างที่ได้บอกเลิกสัญญาเช่ากับจำเลย โดยอ้างว่าผิดสัญญาข้อ ๘ เอาห้องไปให้เช่าช่วง โจทก์ที่ ๑ ไปทำสัญญาเช่าห้องนี้กับพระรคลังข้างที่มีกำหนด ๑ ปีโดยยอมรับว่าหากผู้ให้เช่ายอมให้จำเลยเช่าต่อไป จะยอมออกและจะไม่เรียกค่าเสียหายอย่างใดเลย โจทก์มาฟ้องขอให้มีสิทธิในห้องเช่าพิาพทและงดการบังคับคดีจำเลยต่อสู้หลายประการ
ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องกับศาลชั้นต้นว่าจำเลยผิดสัญญากับพระคลังข้างที่ ๆ มีสิทธิให้โจทก์เช่าได้ ทั้งโจทก์อยู่ในห้องพิพาทอยู่แล้ว พิพากษาว่าจำเลยหมดสิทธิในสัญญาเช่า และให้งดการบังคับคดี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่ สัญญาเช่าระหว่างจำเลยกับพระคลังข้างที่นั้น หมายถึงให้ผู้อื่นเข้าอยู่แทนอย่างเด็ดขาดทำนองโอนการเช่า หาใช่เรื่องให้คนอื่นอยู่เฝ้าหรือพักอาศัยแทนอย่างเช่นคดีนี้ รูปคดีไม่พอจะให้เห็นว่าจำเลยผิดสัญญาเช่า โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิตามสัญญาฉบับใหม่ ที่โขทก์อยู่ในห้องนี้โดยฝ่าฝืนคำบังคับของศาลไม่มีทางจะอ้างว่าเป็นฝ่ายครอบครองอยู่ในขณะนี้ เมื่อโจทก์อยู่ในลักษณะละเมิดแล้วจะอ้างสิทธิตาม ป.ม. แพ่งฯมาตรา ๕๔๓(๑) มิได้
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share