คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 363/2493

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กฎหมายหาได้ห้ามไม่ให้ฟ้องในกรณีที่ไม่มีการชันสุตรพลิกศพไม่ และแม้การชันสูตรพลิกศพจะไม่ชอบ ก็ไม่มีกฎหมายห้ามไม่ให้ฟ้อง
ศาลเดิมลงโทษจำคุกสิบปี ศาลอุทธรณ์แก้เฉพาะกำหนดโทษให้จำคุก 5 ปีโดยมิได้แก้บท ถือว่าเป็นการแก้ไขเล็กน้อย ห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้ง ๒ กับพวกเจ้าพนักงานตำรวจกำลังซุ่มดักคนร้ายที่จะมาปล้นทรัพย์ตามหน้าที่ จำเลยได้สมคบกนใช้อาวุธปืนยิงนายร้อยตำรวจโท ป. และนายร้อยตำรวจตรี จ.ถึงแก่ความตายโดยเจตนาฆ่า เพราะเข้าใจว่าเป็นคนร้ายที่จะมาให้การต่อสู้ว่าได้ยิงผู้ตายทั้ง ๒ จริง ต่อสู้ว่าได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ และตัดฟ้องว่าการสอบสวนชันสุตรพลิกศพไม่ชอบ โดยไม่มีผู้พิพากษาไปร่วมด้วย ซึ่งข้อนี้ได้ความว่าเมื่อผู้พิพากษาไปร่วมด้วย ศพผู้ตายได้เผาเสียหมดแล้ว
ศาลชั้นต้นเห็นว่า ได้ชันสูตรพลิกศพ และสอบสวนโดยชอบแล้ว การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันเกินสมควรกว่าเหตุ ให้จำคุกคนละ ๑๐ ปี ตาม ก.ม. ลักษณะอาญามาตรา ๒๔๙,๕๓
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ไม่จำต้องวินิจฉัยว่า มีการชันสูตรพลิกศพจะสมบูรณ์หรือไม่ เพราะอัยการฟ้องคดีโดยไม่มีการชันสูตรพลิกศพก็ได้ ไม่มีกฎหมายห้าม และเห็นพ้องกับศาลชั้นต้นว่า เป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ แต่โทษแรงไป พิพากษาแก้ให้จำคุกคนละ ๕ ปี นอกนั้นยืม
จำเลยทั้ง ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลอุทธรณ์แก้เฉพาะกำหนดโทษจำคุกไม่เกิน ๕ ปี เป็นการแก้ไขเล็กน้อย ห้ามฎีกาในข้อเท็จจริง คงฎีกาได้เฉพาะข้อกฎหมาย คือการชันสูตรพลิกศพ ซึ่งเห็นว่าตาม ป.ม.วิ.อาญามาตรา ๑๒๙หาได้ห้ามไม่ให้ฟ้องในกรณีที่ไม่มีการชันสูตรพลิกศพไม่ ดังนั้นถึงแม้หากจะฟังว่าการขันสูตรพลิกศพในคดีนี้ไม่ชอบ เนื่องจากเมื่อผู้พิพากษาไปร่วมด้วยกัน ศพได้เผาเสียแล้ว ก็ไม่มีกฎหมายห้ามไม่ให้ฟ้อง สำหรับการสอบสวนได้กระทำมาโดยชอบแล้ว ฎีกาข้ออื่นเป็นเท็จจริงต้องห้าม
พิพากษายืน

Share