คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 607/2494

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตกลงกู้เงิน 40000 บาทคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 บาทต่อเดือนเป็นเวลา 10 เดือนเป็นเงิน 2000 บาท เอารวมไว้เป็นเงินกู้ด้วย เมื่อกรณีเป็นที่พึงสันนิษฐานได้ว่า คู่สัญญามีเจตนาที่จะแยกการกู้เงินและเรียกดอกเบี้ยออกต่างหากจากกันแล้ว ส่วนดอกเบี้ยที่เรียกเกินอัตราก็ตกเป็นโมฆะ แต่ต้นเงินกู้หาเป็นโมฆะด้วยไม่
การใช้เงินกู้ยืมที่มีหลักฐานเป็นหนังสือนั้น จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมา แสดงหรือได้เวนคืนเอกสาร หรือได้แทงเพิกถอนลงไว้แล้วเท่านั้น ทั้งนี้จะเป็นตัวผู้กู้ชำระเองหรือบุคคลที่ 3 เป็นผู้ชำระก็เช่นเดียวกัน เพราะมาตรา 653 มิได้บัญญัติยกเว้นถึงตัวบุคคลผู้ชำระหนี้ไว้เลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญากู้เงินโจทก์ไป ๖,๐๐๐ บาท แล้วไม่ชำระ จึงขอให้บังคับจำเลยชำระ
จำเลยต่อสู้ว่า กู้ไปเพียง ๔,๐๐๐ บาท กำหนดใช้ ๑๐ เดือนคิดดอกเบี้ยร้อยละ ๕ ต่อเดือน เป็นเงิน ๒๐๐๐ บาท ทำรวมกันต้นเงินเข้าด้วยเป็นการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา สัญญากู้จึงเป็นโมฆะและความจริงจำเลยได้รับเงินไปเพียง ๑๒๐๐ บาท ก็ได้ชำระให้โจทก์แล้ว โดยนายสงวนใช้แทน
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยใช้ต้นเงิน ๔๐๐๐ บาท
โจทก์และจำเลยต่างฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยได้ตกลงกู้เงินโจทก์ไป ๔๐๐๐ บาท แต่เวลาทำสัญญากันโจทก์คิดดอกเบี้ยร้อยละ ๕ บาทต่อเดือนเป็นเวลา ๑๐ เดือนเป็นเงิน ๒๐๐๐ บาท เอารวมไว้เป็นเงินกู้ด้วย ดังนี้การกู้ยืมเงินต้น หาเป็นการผิดกฎหมาย แต่เป็นการคิดดอกเบี้ยกันเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ เป็นความผิดตามกฎหมายต่างหาก กรณีพึงสันนิษฐานได้ว่า โจทก์จำเลยมีเจตนาที่จะแยกการกู้เงินและเรียกดอกเบี้ยออกต่างหากจากกัน ส่วนดอกเบี้ยที่เรียกเกินอัตราจึงตกเป็นโมฆะ ต้นเงินกู้หาเป็นโมฆะด้วยไม่
ส่วนข้อโต้แย้งของจำเลยในเรื่องนำสืบพยานบุคคลว่าได้ใช้เงินกู้รายนี้แล้ว ไม่เป็นการต้องห้ามตาม ป.ม.แพ่งฯมาตรา ๖๕๓ วรรค ๒ เพราะได้ตกลงให้บุคคลที่ ๓ เป็นผู้ชำระหนี้นั้น รับฟังไม่ได้เพราะมาตรา ๖๕๓ วรรค ๒ บัญญัติไว้ชัดเจนว่า การนำสืบการใช้เงินกู้ยืมที่มีหลักฐานเป็นหนังสือจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมมาแสดง ฯลฯ มิได้บัญญัติยกเว้นถึงตัวผู้ชำระหนี้ไว้เลย นอกจากนี้การที่จะสืบว่ารับเงินไปเพียง ๑๒๐๐ บาท ก็เป็นการสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขเอกสารต้องห้ามตาม ป.ม.วิ.แพ่งมาตรา ๙๔ อีก ศาลอุทธรณ์ชี้ขาดชอบแล้ว
จึงพิพากษายืน

Share