คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1434/2492

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยขนน้ำสุรา 16 ขวดมีน้ำสุรา 10 ลิตรไปจากเขตต์ท้องที่จังหวัดพระนคร มายังตำบลบางปลาสร้อย อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี ขณะกล่าวหามีกฎกระทรวงการคลังลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2487 ห้ามขนสุราโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเขตต์ท้องที่ ๆ ระบุไว้ท้ายกฎ แต่ไม่มีระบุถึงจังหวัดพระนคร จำเลยจึงยังไม่มีผิดตามกฏนี้ ต่อมาเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2491 อันเป็นวันหลังจากที่กล่าวหาว่าจำเลยกระทำผิด ได้มีกฎกระทรวงการคลังยกเลิกกฎกระทรวงการคลังซึ่งออกมาแล้วทุกฉะบับ และระบุห้ามขนสุราจากท้องที่ตามที่ระบุไว้ท้ายกฏอันมีจังหวัดพระนครอยู่ด้วย ต่อมาวันที่ 12 ตุลาคม 2491 จึงได้มีกฎกระทรวงการคลังให้ถือเขตต์จังหวัดแต่ละจังหวัดตาม พ.ร.บ.ปกครองท้องที่ เป็นเขตต์ซึ่งอยู่ในอำนาจและหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้ทำการเก็บภาษีสุรา ซึ่งกฎกระทรวงการคลังที่ออกภายหลังวันที่กล่าวหาว่าจำเลยกระทำผิดในคดีนี้ จะใช้บังคับแก่การกระทำของจำเลยในคดีนี้ไม่ได้ จำเลยจึงไม่มีผิด.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๑ จำเลยขนน้ำสุรา ๑๖ ขวด มีน้ำสุรา ๑๐ ลิตรไปจากเขตต์ท้องที่จังหวัดพระนครมายังตำบลบางปลาสร้อย อำเภอเมืองชลบุรี โดยไม่ได้ขอ และไม่ได้รับอนุญาต ขอให้ลงโทษ จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นปรับจำเลย ๑๕ บาทตามฟ้องคืนของกลาง ๑๕ ขวดให้จำเลย บอกนั้นริบ
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องคืนสุราของกลางให้จำเลย
โจทก์ฎีกา.
ศาลฎีกาเห็นว่า ในขณะกล่าวหาจำเลยกระทำผิด มีกฎกระทรวงการคลังออกตามความในมาตรา ๑๖ แห่งพ.ร.บ.ภาษีชั้นในแก้ไขเพิ่มเติม ๒๔๗๖ ลงวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๔๘๗ ไม่ได้ห้ามการขนย้ายสุราออกจากจังหวัดพระนครไปยังต่างจังหวัดตามที่ระบุไว้ในใบแนบท้านกฎกระทรวงนั้น จำเลยจึงยังไม่มีผิดตามฟ้องต่อมาวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๔๙๑ จึงได้มีกฎกระทรวงการคลังออกตามความในมาตรา ๑๖ แห่ง พ.ร.บ.ภาษีชั้นใน ฯลฯ ให้ยกเลิกกฎกระทรวงการคลังซึ่งออกมาแล้วทุกฉะบับ และห้ามมิให้ผู้ใดขนน้ำสุราไปจากเขตต์ท้องที่ตามใบแนบท้ายกฎนี้ ซึ่งระบุจังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี อยู่ในเขตต์ท้องที่ตามใบแนบนั้นไว้ด้วย ต่อมาวันที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๔๙๑ จึงมีกฎกระทรวงการคลังให้ถือเขตต์จังหวัดแต่ละจังหวัดตาม พ.ร.บ.ปกครองท้องที่ ซึ่งเป็นเขตต์อยู่ในอำนาจและหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้ทำการเก็บภาษีสุรา ศาลฎีกาเห็นว่ากฎกระทรวงฉะบับหลัง จะใช้บังคับแก่การกระทำของจำเลยในคดีนี้ไม่ได้ จำเลยจึงไม่มีผิด.
พิพากษายืน.

Share