คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 740/2490

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาเช่าที่มีอัตราค่าเช่าไม่เกินกว่าเดือนละ 40 บาทนั้นย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองจาก พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่าฯ 2486.
พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่า 2489 ไม่มีผลย้อนหลังไปถึงการเช่า ซึ่งได้สิ้นสุดลงแล้วโดยชอบ เหตุกรณีเช่นนี้ต้องถือว่าผู้เช่าอยู่ในฐานผู้ละเมิด ไม่อยู่ในความคุ้มครอง
พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่า 2490 เป็นบทแก้ไขฉะเพาะ พ.ร.บ.ปี 2489 เท่านั้น การเช่าที่ไม่ได้รับความคุ้มครองจาก พ.ร.บ.ปี 2489 แล้ว ก็อ้างความคุ้มครองจาก พ.ร.บ.ปี 2490 ไม่ได้ เช่นเดียวกัน.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยออกจากตึกเช่า จำเลยให้การต่อสู้ว่า จำเลยได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่า พ.ศ.๒๔๘๙
ศาลชั้นต้นเห็นว่า แม้ พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่า๒๔๘๙ จะได้ออกภายหลังที่โจทก์บอกเลิกสัญญา และโจทก์มีสิทธิฟ้องขับไล่อยู่ก่อนแล้วก็ดี แต่ พ.ร.บ.นี้มุ่งหมายให้มีผลย้อนหลังด้วยจึงพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า พระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่า ๒๔๘๙ เป็นกฎหมายตัดสิทธิผู้ให้เช่าซึ่งมีอยู่ก่อนจึงต้องแปลให้แคบเมื่อไม่มีที่ใดบัญญัติให้มีผลย้อนหลัง การที่จำเลยไม่ออกจากที่เช่า เมื่อหมดอายุสัญญาและโจทก์บอกเลิกแล้ว จึงเป็นการละเมิดสิทธิโจทก์ พิพากษากลับให้ขับไล่จำเลย
จำเลยฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อที่จำเลยอ้างว่าจำเลยมีสิทธิอยุ่ในที่เช่า เมื่อหมดอายุสัญญาตามพ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่า ๒๔๘๖ นั้น พ.ร.บ.นี้คุ้มครองฉะเพาะการเช่าที่มีอัตราค่าเช่าไม่เกินกว่าเดือนละ ๔๐ บาทเท่านั้น จึงไม่คุ้มครองถึงกรณีการเช่ารายนี้ การที่จำเลยยังคงอยู่ในที่เช่าจึงเป็นการอยู่โดยละเมิดตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๕๔๕/๒๔๘๘ และการที่มี พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่า ๒๔๘๙ ก็ไม่มีผลย้อนหลังทำให้จำเลยเกิดสิทธิขึ้นได้ ดังข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์อนึ่ง จะยก พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่าฯ พ.ศ. ๒๔๙๐ มาปรับแก่คดีนี้ก็ไม่ได้ เพราะ พ.ร.บ.ปี ๒๔๙๐ นี้ แก้ไขฉะเพาะ พ.ร.บ.ปี ๒๔๘๙ เท่านั้น จึงพิพากษายืนศาลอุทธรณ์

Share