แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำฟ้องที่กล่าวหาว่าจำเลยแจ้งความเท็จนั้นแม้จะไม่ได้บรรยายระบุคำว่า “จำเลยรู้อยู่ว่าเป็นความเท็จ” แต่เมื่อข้อความที่บรรยายในฟ้องนั้นได้ความแสดงขัดอยู่ในตัวแล้วว่า จำเลยรู้อยู่ว่าข้อความที่แจ้งมานั้นเป็นความเท็จก็เป็นฟ้องที่สมบูรณ์ครบองค์ความผิดตาม ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา 118 แล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องหาว่า จำเลยผู้เป็นผู้ใหญ่บ้านได้ไปให้การแจ้งความต่อนายแปลง วงศ์มาศปลัดอำเภอและพนักงานสอบสวนว่าจำเลยเป็นผู้จับนายคำตัน ปู่ยืน ผู้ต้องหาคดีลักหรือรับของโจร สอบถามผู้ต้องหารับสารภาพว่าได้สมคบกับพวกลักโค นายสิงห์คำไปจริง และว่านายคำตัน ปู่ยืนเป็นผู้มีความประพฤติไปในทางทุจริตเสมอมา ความจริงนายคำตัน ปู่ยืนไม่ได้รับสารภาพเลย และไม่เคยมีชื่อเสียงเรื่องลักขะโมยใคร ทั้งนี้เป็นเหตุให้สาธารณชน นายแปลวงศ์มาศ นายคำตัน ปู่ยืนได้รับความเสียหาย ขอให้ลงโทษตาม ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา ๑๑๘
ศาลชั้นต้นเห็นว่า ฟ้องของโจทก์ไม่ได้กล่าวยืนยันว่าข้อความที่จำเลยแจ้งนั้นจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นเท็จ จำเลยอาจไม่รู้ว่าเป็นเท็จก็ได้ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ที่ว่า จำเลยได้แจ้งความต่อนายแปลง ปลัดอำเภอว่า นายคำตันผู้ต้องหาให้การรับสารภาพต่อจำเลย ซึ่งความจริงนายคำตันไม่ได้รับสารภาพเลยนี้ เป็นถ้อยคำที่จำเลยยืนยันข้อเท็จจริงอย่างตรงกันข้าม กล่าวคือ ถ้าจำเลยได้แจ้งต่ปลัดอำเภอเช่นนี้จริงก็เป็นถ้อยคำที่จำเลยต้องรู้ดีว่าเป็นเท็จ เพราะยืนยันว่านายคำตันรับสารภาพแก่จำเลยเองโดยตรง ไม่มีทางที่จะกล่าวได้เลยว่า จำเลยอาจไม่รู้ว่าข้อความนั้นเป็นเท็จ เมื่อเป็นเรื่องที่แสดงขัดอยู่ในตัวแล้วเช่นนี้ ก็ไม่จำเป็๋นจะต้องระบุคำว่าจำเลยรู้อยู่ว่าเป็นเท็จนั้นอีก ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาชอบแล้ว
จึงพิพากษายืน