คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2019/2492

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยฐานทำร้ายร่างกาย ศาลชั้นต้นพิพากษาแล้ว ภายหลังผู้ถูกทำร้ายถึงแก่ความตาย โจทก์จะฟ้องจำเลยใหม่ฐานฆ่าคนตายอีกไม่ได้ ไม่ว่าคดีเดิมที่ศาลชั้นต้นพิพากษาแล้วจะถึงที่สุดเด็ดขาดแล้วหรือไม่ก็ดี เพราะการกระทำอันเดียวกันนั้นโจทก์ได้ฟ้อง และศาลได้พิพากษาแล้ว
คดีดังกล่าวหากศาลชั้นต้นยังมิได้พิพากษา โจทก์ได้แต่จะขอแก้ฟ้องตามมาตรา 163 ป.ม.วิ.อาญา หากศาลชั้นต้นพิพากษาแล้ว โจทก์ก็ขอแก้ฟ้องไม่ได้.
ประชุมใหญ่ครั้งที่ 27/2492

ย่อยาว

ได้ความว่า โจทก์เคยฟ้องจำเลยทั้ง ๓ ฐานทำร้ายร่างกาย พ. ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยถึงที่สุดแล้วตามคดีอาญาแดงที่ ๑๗๖/๒๔๙๑ ภายหลัง พ. ตาย โจทก์มาฟ้องคดีนี้ใหม่อีก ขอให้ลงโทษจำเลยตาม ก.ม.ลักษณะอาญามาตรา ๒๕๑.
ศาลชั้นต้นสั่งงดการพิจารณา พิพากษาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องในเรื่องเดียวกันอีกต้องห้ามตาม ป.ม.วิ.อาญามาตรา ๓๙(๔) ให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา, และอ้างฎีกาที่ ๑๐๘๙/๒๔๘๑.
ศาลฎีกาได้วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ว่า หลักทั่วไปในการฟ้องคดีมีว่า การกระทำอันหนึ่งพึงฟ้องร้องได้ครั้งเดียว คำว่า “ในความผิด” ตาม ป.ม.วิ.อาญามาตรา ๓๙(๔) หาได้หมายถึงในฐานความผิดไม่ แต่หมายถึงการกระทำอันหนึ่ง ๆ คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำร้ายร่างกาย ศาลได้พิพากษาถึงที่สุดแล้ว บัดนี้ผู้เสียหายตาย การตายของผู้เสียหายก็เกิดจากการกระทำของจำเลย ซึ่งได้ฟ้องร้องคดีถึงที่สุดแล้วนั้นนั่นเอง โจทก์จึงฟ้องอีกไม่ได้ ต้องห้ามตาม ป.ม.วิ.อาญามาตรา ๓๙(๔).
ฎีกาที่โจทก์อ้างในข้อเท็จจริงต่างกับคดีนี้ เพราะผู้เสียหายตาย และโจทก์ยื่นฟ้องคดีใหม่ในอายุอุทธรณ์ของคดีเดิม แต่อย่างไรก็ดีที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเห็นว่า แม้กระนั้นโจทก์ก็ฟ้องใหม่ไม่ได้ เพราะแม้ความผิดฐานทำร้ายร่างกายและฐานฆ่าคนตายจะเป็นคนละฐาน แต่ก็เกิดจากการกระทำอันเดียวกัน และเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาแล้ว จะถือว่าได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดตามมาตรา ๓๙(๔) แล้วหรือไม่ก็ตาม โจทก์ฟ้องคดีแล้วก็ได้แต่จะขอแก้ฟ้องตามมาตรา ๑๖๓ ซึ่งแสดงว่าโจทก์ฟ้องใหม่ไม่ได้ หากจะให้โจทก์ฟ้องใหม่ผลจะเป็นว่าจำเลยต้องโทษสองโทษด้วยกัน เพราะการกระทำอันเดียว ซึ่งจะแปลขัดกับหลักใหญ่และทำให้ผู้ต้องโทษเสียผล หาได้ไม่
พิพากษายืน.

Share