แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บุตรบุญธรรมตายก่อนผู้รับบุตรบุญธรรม บุตรของบุตรบุญธรรมย่อมมีสิทธิรับมรดกแทนที่กันได้ตามสิทธิที่ ก.ม.ให้ไว้ตามประมวลแพ่ง ฯ มาตรา 1639
ย่อยาว
คดีได้ความว่า นางซิ้วอ้อย และนางซิ้วเจ็งจำเลยเป็นบุตรบุญธรรมโดยชอบด้วยกฎหมายของนางสาวเซียม นางซิ้วอ้อยถึงแก่ความตายมาได้ราว ๕-๖ ปีแล้ว แต่มีบุตร ๑ คน คือเด็กหญิงอ๊าต โจทก์ นางสาวเซียมเพิ่งตายเมื่อเดือนสิงหาคม ๒๔๙๒
บัดนี้เด็กหญิงอ๊าดโจทก์ ได้นำคดีมาฟ้องขอแบ่งมรดกของนางสาวเซียม จากจำเลย โดยอ้างสิทธิรับมรดกแทนที่นางซิ้วอ้อยผู้เป็นมารดาตาม ป.ม.แพ่ง ฯ มาตรา ๑๖๒๗,๑๖๒๙ อนุมาตรา (๑) , และ ๑๖๓๙
จำเลยต่อสู้ว่า โจทก์เป็นแต่เพียงบุตรของบุตรบุญธรรมจึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับมรดกแทนที่กันได้
ศาลชั้นต้นชี้ขาดว่า บุตรของบุตรบุญธรรมมีสิทธิรับมรดกแทนที่กันได้โดยอาศัย ป.ม.แพ่ง ฯ มาตรา ๑๕๘๖,๑๖๒๗ จึงให้ยกคำร้องของจำเลยที่ขอให้ศาลชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตาม ป.ม.วิ.แพ่งมาตรา ๒๔
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า บุตรบุญธรรมนั้น แม้จะไม่ใช่ญาติทางสายโลหิตของผู้รับบุตรบุญธรรม แต่เป็๋นเรื่องที่กฎหมายยอมรับรู้ และเชิดชูฐานะของบุตรบุญธรรมอย่างเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรมนั้น ดังจะเห็นได้จากประมวลกฎหมายแพ่งฯ มาตรา ๑๕๘๖,๑๖๒๗ จึงเป็นทายาทโดยธรรมอันดับ ๑ ตามความในมาตรา ๑๖๒๙ บุตรของบุตรบุญธรรมจึงมีสิทธิรับมรดกแทนที่กันได้ตามสิทธิที่กฎหมายบัญญัติไว้ตามมาตรา ๑๖๓๙
จึงพิพากษายืน