คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 455/2489

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยซื้อที่ดินจากผู้ปกครองทรัพย์ผู้เยาว์โดยสมคบกับผู้ปกครองทรัพย์นั้น ผู้เยาว์ฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรม ่ดังนี้ จำเลยจะยกอายุความตาม ม.240 ป.ม.แพ่ง ฯ มาตัดฟ้องไม่ได้ เพราะมาตรา 240 เป็นอายุความเพิกถอนการฉ้อฉลของลูกหนี้ และผู้ปกครองทรัพย์แทนผู้เยาว์ก็ไม่ใช่ลูกหนี้ของผู้เยาว์
คำสั่งที่ถือได้ว่าเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้น ตามประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยสมคบกับนายยกเปกผู้ปกครองทรัพย์ของโจทก์ผู้เยาว์ ทำนิติกรรมขายฝากทรัพย์ของโจทก์ ขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรม
จำเลยตัดฟ้องว่า คดีโจทก์ขาออายุความตาม ป.ม.แพ่ง ฯ มาตรา ๒๔๐ และขอให้ศาลวินิจฉัยข้อตัดฟ้องนี้ก่อนตาม ป.ม.วิธีพิจารณาพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ศาลได้พิจารณาคำร้องของจำเลยที่ขอตัดฟ้อง อ้างอายุความตาม ป.ม.แพ่ง ฯ มาตรา ๒๔๐ แล้วเห็นว่า คดีนี้จะนำมาตรา ๒๔๐ มาใช้บังคับไม่ได้ เพราะ ม.๒๔๐ เป็นเรื่องระหว่างลูกหนี้เจ้าหนี้ อันลูกหนี้ได้กระำการฉ้อฉลให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่คดีนี้เป็นเรื่องปิดากับบุตร เรื่องจึงไม่ตรงกัน จึงได้ยกคำร้องของจำเลยเสีย
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกายืนยันตามข้ออุทธรณ์ว่า ศาลชั้นต้นไม่ปฏิบัติตาม ป.ม.วิ.แพ่ง ม.๒๔ โดยสั่งยกคำร้องไม่วินิจฉัยให้ และคดีของโจทก์ขาดอายุความตาม ป.ม.แพ่ง ฯ มาตรา ๒๔๐ แล้ว
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยข้อตัดฟ้องของจำเลยแล้วว่า ข้อตัดฟ้องฟังไม่ได้ เป็นการปฏิบัติถูกต้องตาม ป.ม.วิ.แพ่ง มาตรา ๒๔ แล้ว ส่วนข้อที่จำเลยยกอายุความตาม มาตรา ๒๔๐ แห่ง ป.ม.แพ่ง ฯ มาปรับแก่คดีนี้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ม.๒๔๐ เป็นเรื่องอายุความในกรณีเพิกถอนการฉ้อฉลนิติกรรมอันลูกหนี้ได้กระทำโดยรู้อยู่ว่าทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่เรื่องนี้นายยกเปกไม่ใช่ลูกหนี้โจทก์ เป็นแต่นายยกเปกปกครองทรัพย์แทนโจทก์ในขณะที่โจทก์ เป็นผู้เยาว์เท่านั้น และกรณีก็ไม่ใช่เรื่องที่ทำให้กองทรัพย์สิ้นของลูกหนี้ลดน้อยลง อันจะทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ ข้อตัดฟ้องของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน

Share