คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 898/2491

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อผู้เช่าตายบุคคลภายนอกจะเข้ามาเป็นคู่สัญญาสืบแทนคู่สัญญาต่อไป โดยได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ได้ ต่อแต่เมื่อได้มีฐานะ และได้ปฏิบัติตามที่ พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขัน (ฉะบับที่ 3) 2489 มาตรา 17 บัญญัติไว้ กล่าวคือ (1) เป็นบุคคลในครอบครัวของผู้เช่า (2) ได้อาศัยอยู่ในทรัพย์สินที่เช่าขณะที่ผู้เช่าตาย และ (3) ได้แจ้งความจำนงเป็นหนังสือไปยังผู้ให้เช่าภายใน 30 วัน นับแต่วันผู้เช่าตาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายยกใส่ได้เช่าห้องพิพาทโดยทำสัญญากับนางฮงเฮ้าเจ้าของเดิมผู้ขายให้แก่โจทก์ ๆ ได้บอกเลิกสัญญาเช่ากับนายยกใส่แล้ว ต่อมานายยกใส่ตาย จำเลยกับบริวารอาศัยต่อมาเป็นเวลา ๔ เดือนเศษ โดยไม่แจ้งความจำนงว่าจะเช่าต่อไปให้โจทก์ทราบ จึงไม่มีสิทธิอยู่ ขอให้ขับไล่และเรียกค่าเสียหาย จำเลยต่อสู้เพียงข้อเดียวว่า นายยกใส่เป็นสามีจำเลย จำเลยเป็นผู้ไปขอเช่าจากนายฮงเฮ้า แต่นายยกใส่เป็นคนทำสัญญาเช่า จำเลยเป็นผู้เช่า จึงไม่ต้องแสดงความจำนงต่อผู้ให้เช่า ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยาน แล้วพิพากษาขับไล่จำเลยและบริวาร ยกข้อหาค่าเสียหาย
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อนายกใส่เป็นคู่สัญญาในการเช่า จะถือว่าภรรยาเป็นคู่สัญญาด้วยหาได้ไม่ จำเลยเป็นบุคคลภายนอกสัญญา จะเข้ามาเป็นผู้เช่าสิบแทนคู่สัญญาต่อไปได้ โดยได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ได้ ก็แต่เมื่อได้มีฐานะและได้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขัน ได้บัญญัติไว้ กล่าวคือ (๑) เป็นบุคคลในครอบครัวของผู้เช่า (๒) ได้อาศัยอยู่ในทรัพย์สินขณะที่ผู้เช่าตาย และ (๓) ได้แจ้งความจำนงจะเช่าต่อไป ไปยังผู้ให้เช่าภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันผู้เช่าตาย ฉะนั้นเมื่อจำเลยเป็นบุคคลนอกสัญญา มิได้แสดงความจำนงว่า จะเช่าต่อไปภายในเวลาที่ ก.ม.กำหนดแล้ว จำเลยจะอ้างความคุ้มครองของ พ.ร.บ.ควบคุมค่าเช่าในภาวะคับขันหาได้ไม่
พิพากษายืน

Share