แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยภาษีเงินได้ พ.ศ. 2482 กำหนดอาชีพการค้าขายของคนกลางให้ตกอยู่ในมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร คำว่า “การค้าขายของคนกลาง” นี้หมายความว่า การค้าของคนซึ่งอยู่ในระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภคคือซื้อของที่ตนเองมิได้เป็นผู้ผลิตมาแล้วขายต่อไป
ทำสัญญากับโรงงานสุราเป็นผู้ขายส่งสุราประจำอำเภอหนึ่ง แม้ตายสัญญาจะถูกจำกัดในการซื้อในการขายตลอดจนเรื่องราคาที่จะขายก็ดีก็เป็นเรื่องที่ซื้อมาแล้วขายต่อไปอัน เป็นการค้าของคนกลางนั้นเอง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่านางประชุม ชัยรัตน์ ภริยาของโจทก์ได้ทำสัญญากับโรงงานบางยี่ขัน กรมโรงงานอุตาสหกรรม กระทรวงการอุตสาหกรรม เป็นผู้ขายส่งสุราประจำอำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี โจทก์ในฐานะสามีหัวหน้าครอบครัว ได้ยื่นประเมินภาษีเงินได้รวมทั้งของภริยาด้วย เจ้าหน้าที่ประเมินแห่งกรมสรรพากรได้ประเมินเงินได้ค่าสุราเข้าอยู่ในประเภทการค้าของกลาง และเรียกเก็บภาษี ๑๐,๖๑๒ บาท ๑ สตางค์ โจทก์ยื่นอุทธรณ์ว่าไม่ใช่การค้าของคนกลางแต่อยู่ในประมวลรัษฎากรมาตรา ๔๐(๒) กรมสรรพากรชี้ขาดให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ การขายส่งนี้อยู่ภายในข้อจำกัดและเงื่อนไขต่าง ๆ ลักษณะเป็นตัวแทนหรือยี่กงซีของโรงงานบางยี่ขัน ไม่ใช่การค้าของคนกลางจึงขอให้ศาลแสดงเช่นนั้น และให้กรมสรรพากรเรียกเก็บตามนั้น
จำเลยต่อสู้ว่าภริยาโจทก์ซื้อและขายสุราของตนเองโดยเด็ดขาดไม่ใช่ตัวแทน ต้องตามประมวลรัษฎากรมาตรา ๔๐(๘) ไม่ใช่มาตรา ๔๐(๒)
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกคำชี้ขาดอุทธรณ์ของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์, ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่าพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยภาษีเงินได้ พงศ. ๒๔๘๒ กำหนดอาชีพการค้าขายของคนกลางให้ตกอยู่ภายในมาตรา ๔๐(๘) แห่งประมวลรัษฎากร คำว่า”การค้าขายของคนกลาง” นี้หมายว่า การค้าของคนซึ่งอยู่ระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค คือซื้อของที่ตนเองมิได้เป็นผู้ผลิตมาแล้วขายต่อไป แม้การที่ภริยาโจทก์ซื้อสุราจากโรงงานมาขายต่อไปนั้นจะถูกจำกัดในการซื้อในการขายตลอดจนในเรื่องราคาที่จะขายก็ดีแต่เนื่องจากภริยาโจทก์ซื้อแล้วมาขายต่อเช่นนี้ก็ยังต้องถือว่าการค้าของภริยาโจทก์เป็นการค้าของคนกลาง ฉะนั้นจึงพิพากษายืน