คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1692/2503

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บุริมสิทธิของผู้ให้เช่า เรือนโรงเหนือสังหาริมทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 261 วรรค 2 นั้น ผู้เช่าไม่จำต้องเอาสังหาริมทรัพย์นั้นเข้ามาด้วยตนเอง แต่หมายถึงสังหาริมทรัพย์นั้นได้เข้ามาอยู่ในเรือนโรงด้วยความรู้เห็นของผู้เช่า

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากตึกแถวและเรียกค่าเช่ากับค่าเสียหายด้วย ศาลพิพากษาให้ขับไล่จำเลยและให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ค้างชำระและใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ศาลบังคับคดียึดทรัพย์จำเลยเพื่อขายทอดตลาด
ผู้ร้องยื่นคำร้องขัดทรัพย์รายการที่ ๓ ซึ่งได้แก่ สินค้าผ้าและไหมว่า เป็นของผู้ร้องขอให้ปล่อยการยึด
ในวันชี้สองสถาน โจทก์และผู้ร้องรับกันว่าทรัพย์รายนี้เป็นของผู้ร้องนำมาฝากจำเลยขายไว้ที่ร้านของจำเลย และรับกันต่อไปว่า โจทก์เพิ่งทราบความข้อนี้หลังจากที่ผู้ร้องได้ร้องขัดทรัพย์ แล้วทั้ง ๒ ฝ่ายไม่ติดใจสืบพยาน ขอให้ศาลวินิจฉัย
ศาลแพ่งวินิจฉัยว่า บุริมสิทธิของโจทก์ต้องเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๖๑ โจทก์ไม่มีสิทธิยึดทรัพย์รายนี้ขาดทอดตลาด เพราะจำเลยไม่ได้เป็นผู้นำทรัพย์รายนี้เข้ามาในตึกพิพาทของโจทก์อันจะเป็นเหตุให้โจทก์ได้สิทธิตามมาตรา ๒๖๑ นั้น เทียบตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๒๗๕/๒๔๘๐ จึงพิพากษาให้ปล่อยการยึดทรัพย์รายการที่ ๓
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ทรัพย์รายนี้อยู่ในร้านค้าของจำเลย ย่อมอยู่ในความครอบครองของจำเลย โจทก์จึงมีบุริมสิทธิ ใครจะเป็นผู้นำทรัพย์เข้ามาไว้นั้น ไม่ต้องคำนึงถึง พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องขัดทรัพย์
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์มีบุริมสิทธิ โดยกรณีเข้าตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๖๑ คำว่า ผู้เช่านำเข้ามา ตามมาตรา ๒๖๑ นั้น มิได้หมายความว่าผู้เช่าต้องเอาเข้ามาด้วยตนเอง พึงสังเกตุว่า มาตรา ๒๖๑ ใช้คำว่า นำเข้ามา มิใช่เอาเข้ามา จึงหมายเพียงว่า สังหาริมทรัพย์นั้นได้เข้ามาอยู่ในโรงเรือนด้วยความรู้เห็นของผู้เช่า ฉะนั้น ข้อที่ว่า มาตรา ๒๖๘ ต้องอยู่ภายใต้มาตรา ๒๖๑ วรรค ๒ หรือไม่ จึงไม่จำต้องวินิจฉัย พิพากษายืน

Share