แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พินัยกรรมให้โจทก์ได้รับสิทธิ์อาศัยและสิทธิ์เก็บกินในห้องแถวผู้จัดการมฤดกได้มอบสิทธิ์นั้นให้โจทก์แล้ว ผู้จัดการย่อมไม่มีสิทธิ์ทำสัญญาให้คนอื่นเช่าห้องแถวนั้นได้ ถ้าหากผู้จัดการมฤดกทำสัญญาให้เช่าไป โจทก์ย่อมฟ้องขับไล่ผู้เช่าได้ โดยไม่ต้องคำนึงว่า ผู้เช่าจะทำโดยสุจริตหรือไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ได้รับสิทธิ์อาศัยและสิทธิ์เก็บกินในห้องแถวตามพินัยกรรม์ของบิดา จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้จัดการมฤดกได้มอบสิทธิ์นี้ให้แก่โจทก์แล้ว จำเลยที่ ๒ เป็นผู้เช่าห้องแถวรายนี้ และสัญญาเช่าสิ้นอายุแล้ว จำเลยที่ ๑ ยังคงให้จำเลยที่ ๒ เช่าต่อไปอีก ๕ ปีโดยไม่มีสิทธิ์ที่จะให้เช่าได้ จึงขอให้ศาลพิพากษาว่าสัญญาเช่าระหว่างจำเลยทั้ง ๒ ไม่มีผลตามกฎหมาย ให้ขับไล่จำเลยที่ ๒
จำเลยที่ ๑ ให้การต่อสู้ว่า จำเลยมีสิทธิ์จัดการห้องแถวนี้ได้ตามกฎหมาย จำเลยที่ ๒ ต่อสู้ว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะห้องแถวรายนี้ยังอยู่ในระหว่างจัดการมฤดก ผู้จัดการมฤดกผู้เดียวมีอำนาจ จำเลยได้ทำสัญญาเช่าโดยสุจริต และโจทก์ก็เคยไปเก็บค่าเช่า ถือว่าโจทก์ ให้สัตยาบัน
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ขับไล่จำเลย
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ได้รับสิทธิ์อาศัยและสิทธิ์เก็บกินในห้องแถวรายนี้ ในการนี้ต้องแยกสิทธิ์อาศัยและสิทธิ์เก็บกินออกต่างหากจากกรรมสิทธิ์ ในแง่กรรมสิทธิ์ห้องแถวรายนี้จะคงถือว่าอยู่ในระหว่างจัดการมฤดกอันจำเลยอ้างเป็นเหตุว่า จำเลยที่ ๑ มีอำนาจให้เช่าไม่ได้ เพราะจำเลยได้มอบสิทธิ์ทั้งสองนี้ให้แก่โจทก์แล้ว เมื่อโจทก์มีสิทธิ์เก็บกิน โจทก์ย่อมมีอำนาจจัดการเองได้ เพราะตาม ป.ม.แพ่ง ฯ มาตรา ๑๔๑๗ ผู้ทรงสิทธิ์เก็บกินมีอำนาจจัดการทรัพย์สินนั้น นอกจากนั้นโจทก์ยังมีสิทธิ์อาศัยด้วย ซึ่ง ป.ม.แพ่ง ฯ ม.๑๕๐๒ โจทก์มีสิทธิ์จะเข้าอยู่ในห้องแถวรายนี้ได้ เมื่อบวกสิทธิ์ทั้งสองเข้าด้วยกันแล้วเห็นได้ชัดว่า อำนาจที่จะให้ใครเช่าอยู่แก่โจทก์ จำเลยที่ ๑ หามีอำนาจทำสัญญาเช่ากับจำเลยที่ ๒ ไม่ ประเด็นที่ว่า จำเลยที่ ๒ ได้เช่าโดยสุจริตไม่ขึ้นมาสู่ศาลนี้จึงไม่วินิจฉัย พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์