แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 2 ปี จำเลยฎีกา และในฎีกานั้นจำเลยได้อ้างอิงหลักฐานและเหตุผลเพื่อแสดงว่าโจทก์ฟ้องในนามของตนเอง มิใช่ฟ้องในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เสียหาย ดังนี้ ฎีกาของจำเลยจึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218
ย่อยาว
คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า เด็กหญิงบุญเสริมอายุ ๑๔ ปี ๔ เดือน เป็นบุตรีโจทก์ อยู่ในความปกครองดูแลของโจทก์ จำเลยได้บังอาจข่มขืนกระทำชำเราเด็กหญิงบุญเสริม โดยจำเลยใช้กำลังประทุษร้ายจับแขน อุดปาก ฉุดคร่าพาไปกระทำการข่มขืนกระทำชำเรา ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๕๙,๒๗๖
จำเลยให้การปฏิเสธ และตัดฟ้องว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ตามข้อเท็จจริงของจำเลยนั้น ปรากฏว่าเด็กหญิงบุญเสริมโดยนางย่องมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมเป็นโจทก์ฟ้องจำเลย เด็กหญิงบุญเสริมเป็นผู้เสียหายในคดีนี้และเป็นผู้เยาว์ นางย่องมารดาเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมจึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้แทนเด็กหญิงบุญเสริมได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๓ และ ๕ ข้อตัดฟ้องของจำเลยจึงตกไป ส่วนข้อเท็จจริงศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้อง พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๗๖ ให้จำคุก ๒ ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกาว่า ตามคำฟ้องของโจทก์ลงวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๐๗ บรรยายไว้แจ้งชัดว่า นางย่อง ถนอมสิน โจทก์ นายยัง มลิเครือ จำเลยและเพื่อสนับสนุนให้เห็นเด่นชัดขึ้นอีกว่า นางย่อง ถนอมสิน ได้ฟ้องในฐานะส่วนตัว มิได้ฟ้องในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิงบุญเสริม ก็คือ ตามคำฟ้องข้อ ๑ โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้ชัดเจนว่า “ข้อ ๑ เด็กหญิงบุญเสริม ชลกิจ อายุ ๑๔ ปี ๔ เดือน เป็นบุตรีโจทก์ อยู่ในความปกครองดูแลของโจทก์” คำว่าโจทก์ในที่นี้หมายถึงนางย่อง ถนอมสิน ผู้เป็นโจทก์นั่นเอง ยิ่งกว่านั้น ตามหมายนัดไต่สวนมูลฟ้องของศาลชั้นต้น ลงวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๐๗ ก็ลงไว้ว่านาย (นาง)ย่อง ถนอมสิน โจทก์ นายยัง มลิเครือ จำเลย ฉะนั้น จึงต้องฟังว่านางย่อง ถนอมสิน ฟ้องในฐานะส่วนตัว ซึ่งศาลชอบที่จะยกฟ้องเสีย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฎีกาของจำเลยเป็นการอ้างอิงหลักฐานและเหตุผลเพื่อแสดงว่าโจทก์ฟ้องในนามของตนเอง มิใช่ฟ้องในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิงบุญเสริม ฎีกาของจำเลยจึงเป็นฎีกา ข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๒๑๘ พิพากษายืน