คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1855/2505

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อหลักฐานในสำนวนฟังได้ว่าการจำนำที่ดินพิพาทได้ปฏิบัติต่อกันอย่างขายฝาก คือ ผู้จำนำได้มอบที่พิพาทให้ผู้รับจำนำครอบครองทำกินต่างดอกเบี้ย แม้จะได้ทำสัญญาจำนำไว้ก็ดี (ทำสัญญาจำนำที่ดินมีโฉนด โดยจดทะเบียนไว้ที่หอทะเบียนที่ดิน เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2466 โดยมีข้อสัญญาว่าจะชำระดอกเบี้ยให้ชั่งละ 1 บาท 25 สตางค์ ต่อเดือน และยอมให้ผู้รับจำนำถือโฉนดไว้) ก็ต้องถือตามกิริยาที่คู่สัญญาประพฤติต่อกันมาว่า เป็นจำนำหรือขายฝาก เมื่อพฤติการณ์เป็นขายฝากและไม่ไถ่ใน 10 ปี ที่พิพาทย่อมหลุดเป็นสิทธิแก่ผู้รับจำนำ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๖ นายแก่น นางนา เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ ๓๘ ได้ทำสัญญาจำนำที่ดินโฉนดดังกล่าวไว้กับโจทก์ ในการจำนำนี้ได้ประพฤติต่อกันอย่างขายฝาก คือ ผู้จำนำมอบที่ดินให้โจทก์ครอบครองทำกินต่างดอกเบี้ย นับแต่วันทำสัญญาจำนำจนบัดนี้ได้ ๓๖ ปีแล้ว ยังมิได้ไถ่ถอนผู้จำนำตายไปแล้ว ที่ดินจึงหลุดเป็นสิทธิ์แก่โจทก์แล้ว บัดนี้ จำเลยที่ ๑ กับที่ ๒ ต่างขอรับมรดกของเจ้าของโฉนดที่ดินนี้ และจำเลยนอกนั้นร้องคัดค้าน กับขอเข้าร่วมรับมรดกด้วย โจทก์จึงฟ้องขอให้พิพากษาว่าที่ดินโฉนดนี้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์แล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๙๔ (๑) ขอให้สั่งถอนชื่อจำเลยที่ ๑ ผู้รับมรดกของนางนากับถอนชื่อนายแก่นออกจากโฉนด แล้วใส่ชื่อโจทก์ถือกรรมสิทธิ์ ห้ามจำเลยเกี่ยวข้อง
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า ผู้จำนำคงครอบครองที่รายนี้อยู่ มิได้มอบการครอบครองทั้งหมดให้โจทก์แต่ผู้เดียว ทั้งผู้จำนำก็ได้ส่งดอกเบี้ยแก่โจทก์ เมื่อผู้จำนำตายแล้ว จำเลยที่ ๑ ในฐานะทายาทของนางนาเคยขอไถ่ แต่โจทก์ขอซื้อและไม่ตกลงกัน โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลย เพราะโจทก์และผู้จำนำได้ประพฤติต่อกันอย่างสัญญาจำนอง
คดีขึ้นมาสู่ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาเฉพาะปัญหาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ เท่านั้น
ข้อเท็จจริงได้ความว่า นายแก่น นางนา ผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ ๓๘ ได้ทำสัญญาจำนำที่ดินโฉนดนี้ไว้กับโจทก์เป็นเงิน ๒๙๔ บาท โดยได้จดทะเบียนไว้ที่หอทะเบียนที่ดินเมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๔๖๖ มีข้อสัญญาว่าจะชำระดอกเบี้ยให้โจทก์เดือนหนึ่ง ชั่งละ ๑.๒๕ บาททุกปี และยอมให้โจทก์ถือโฉนดไว้ นายแก่นตายมาประมาณ ๒๐ ปี ส่วนนางนาตายก่อนโจทก์ฟ้อง (พ.ศ. ๒๕๐๓) หนึ่งปี หลังจากนายแก่น นางนาจำนำที่พิพาทกับโจทก์แล้ว ได้มอบที่พิพาทให้โจทก์ทำประโยชน์ต่างดอกเบี้ย โจทก์ได้เข้าครอบครองที่พิพาทตลอดมา นายแก่น นางนา หรือจำเลยที่ ๑ ไม่เคยเข้าเกี่ยวข้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า การจำนำรายนี้กระทำกันก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คู่กรณีประพฤติต่อกันอย่างเรื่องขายฝาก จึงต้องถือว่ากรณีเป็นเรื่องขายฝาก นับแต่วันทำสัญญามากว่า ๑๐ ปีแล้ว ฝ่ายผู้รับจำนำก็ย่อมหมดสิทธิที่จะไถ่ที่พิพาทคืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๙๔ (๑) ที่พิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์แก่โจทก์เสียก่อนแล้ว หาใช่เป็นมรดกของนางนาไม่
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า การจำนำรายนี้ได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายเป็นเรื่องจำนำ ต้องนำกฎหมายว่าด้วยการจำนองมาใช่บังคับ จำเลยที่ ๑ ยังคงมีสิทธิไถ่ถอนได้เสมอ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อฟังได้ว่าการจำนำรายนี้ได้ปฏิบัติต่อกันอย่างขายฝาก คือ ผู้จำนำได้มอบที่พิพาทให้โจทก์ครอบครองทำกินต่างดอกเบี้ย แม้จะได้ทำสัญญาจำนำกันไว้ก็ดี ก็ต้องถือตามกิริยาที่คู่สัญญาประพฤติกันมาว่าเป็นจำนำหรือขายฝาก เมื่อพฤติการณ์ที่ประพฤติต่อกันเป็นกิริยาขายฝาก เมื่อไม่ไถ่ใน ๑๐ ปี ที่พิพาทย่อมหลุดเป็นสิทธิแก่โจทก์ตามลักษณะขายฝาก จำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้รับมรดกนางนา ย่อมไม่มีสิทธิไถ่ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๐๔๔/๒๔๙๒
ผลที่สุด ศาลฎีกาพิพากษายืน

Share