คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 797/2492

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า วันเกิดเหตุคือคืนวันที่ 5 – 6 พ.ค. 91 (ตรงกับวันแรม 11 – 12 ค่ำ เดือน 5) พะยานโจทก์เบิกความว่า วันเกิดเหตุคือ คืนวันแรม 13 – 14 ค่ำ เดือน 5 โจทก์จึงส่งคำให้การชั้นสอบสวนของนายนุ้ยพะยานโจทก์เป็นพะยานต่อศาล ซึ่งในชั้นสอบสวนนายนุ้ยเบิกความว่าเป็นวันที่ 5 – 6 พ.ค. 91 และจะขอสืบเจ้าพนักงานสอบสวนว่านายนุ้ยพะยานโจทก์ได้ให้การไว้ดังนั้นจริง ดังนี้ ศาลฎีกาเห็นพ้องกับศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพะยานโจทก์ต่อไป และพิพากษายกฟ้องโจทก์เพราะถึงสืบไปก็ไม่มีประโยชน์ เพราะไม่เป็นหลักฐานคำพะยานที่จะยืนยันได้ว่าคำเบิกความของพะยานในศาลนั้นไม่ตรงกับความจริง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ ๕-๖ พฤษภาคม ๒๔๙๑ (ตรงกับวันแรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๕) เวลากลางคืน จำเลยได้ใช้ไม้ทำร้ายร่างกายนายนุ้ยบาดเจ็บ ขอให้ลงโทษ จำเลยปฏิเสธ ศาลชั้นต้นสืบพะยานโจทก์ที่ระบุอ้างไว้เดิมหมด แล้วสั่งงดพะยานโจทก์ที่ขออ้างเพิ่มเติม และพะยานจำเลยเสีย และเห็นว่าข้อเท็จจริงที่ได้ความต่างกับฟ้อง พิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาและพิพากษาใหม่
จำเลยฎีกา,
ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์สืบพะยานไป ๔ ปากแล้ว โจทก์แถลงขออ้างพนักงานสอบสวนอีกปากหนึ่งเพราะนายนุ้ยนางนุ้ยประจักษ์พะยานโจทก์เบิกความว่า วันเกิดเหตุคือ คืนวันแรม ๑๓-๑๔ ค่ำ เดือน ๕ ซึ่งต่างกับฟ้องและคำให้การะพยานชั้นสอบสวน โจทก์ส่งคำให้การชั้นสอบสวนของนายนุ้ยเป็นพะยาน นายนุ้ยรับว่าได้ให้การชั้นสอบสวนถึงวันถูกทำร้ายไว้ด้วย ตามคำให้การชั้นสอบสวนว่า เกิดเหตุระหว่างคืนวันที่ ๕-๖ พฤษภาคม ๒๔๙๑ ศาลฎีกาเห็นว่า การที่พะยานให้การชั้นศาลกับสอบสวน เป็นคนละอย่างต่างกัน เช่นนี้ คดีไม่มีหลักฐานคำพะยานแน่ชัดว่าข้างไหนผิดแล้ว จะฟังว่าคำให้การชั้นศาลผิดนั้นไม่ถนัด ศาลชั้นต้นงดสืบพะยานโจทก์,จำเลยชอบแล้ว เพราะจะสืบไปก็ไม่มีประโยชน์อะไร
พิพากษากลับศาลอุทธรณ์ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share