คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1034/2503

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 เรื่องระบุพยานหลักฐานนั้น แบ่งออกได้เป็น 3 ตอน คือ ตอนแรกว่า ด้วยการระบุพยานหลักฐานครั้งแรก ตอนที่ 2 ว่าด้วยการระบุพยานเพิ่มเติม ให้ระบุเพิ่มเติมได้เสมอในเมื่อฝ่ายที่สืบก่อนยังสืบไม่เสร็จ ตอนที่ 3 ว่าด้วย การระบุพยานหลักฐาน จะเป็นระบุครั้งแรกก็ดี ระบุเพิ่มเติมก็ดี หากไม่เข้าตอน 1 และ 2 แล้ว ต้องขออนุญาตศาลก่อน ความประสงค์ของบทบัญญัตินี้ก็เพื่อมิให้คู่ความจู่โจมกันในทางพยานหลักฐานโดยไม่รู้สึกตัว ในทางปฏิบัติ จึงชอบที่จะพิจารณาว่า การที่คู่ความฝ่ายใดไม่ระบุพยานภายในกำหนด นั้น เป็นโดยประสงค์จะเอาเปรียบในทางคดี หรือว่าพลั้งพลาดไป หาได้ประสงค์จะเอาเปรียบในทางคดีไม่ และการที่ไม่ระบุพยานนั้น มีทางพอจะแก้ไขไม่ให้อีกฝ่ายหนึ่งเสียหายหรือไม่ หากเป็นเรื่องไม่ใช่เอาเปรียบและมีทางจะแก้ไขไม่ให้อีกฝ่ายหนึ่งระบุพยานเพิ่มเติมบ้าง เสียค่าเสียหายให้อีกฝ่ายหนึ่งเพราะต้องเลื่อนคดีเป็นต้น ก็ชอบที่ศาลจะใช้อำนาจตามตอน 3 โดยสั่งตามควรแก่กรณี ทั้งนี้ เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ตัวความตามสมควร
ทนายโจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานบุคคลและเอกสารก่อนวันเริ่มต้นสืบพยานนัดแรก 1 วัน อ้างว่าหลงสืบ พยานที่ระบุขอสืบ ก็เป็นตัวโจทก์กับเอกสารสัญญากู้ ซึ่งโจทก์ พร้อมที่จะนำเข้าสืบได้ในวันนั้น ในกรณีเช่นนี้ ไม่เป็นการทำให้จำเลยเสียหายแต่อย่างใด หรือถ้าหากจำเลยจะเสียหายก็มีทางแก้ไขได้โดยศาลย่อมมีอำนาจออกคำสั่งให้เลื่อนคดีไปให้โอกาศจำเลยได้พิจารณาเอกสารและตระเตรียมคดีถ้าจำเลยจะขอค่าเสียหายโดยต้องเลื่อนศาลเห็นสมควรจะพิจารณาให้ด้วยก็ได้ เช่นนี้ ย่อมเป็นการสมควรที่ศาลจะได้ฟังพยานทั้งสองฝ่ายเพื่อชี้ขาดข้อสำคัญแห่งคดีไปโดยความเที่ยงธรรม ซึ่งเป็นเจตนารมณ์อันแท้จริงของกฎหมาย ศาลควรให้รับระบุพยานของโจทก์ดังกล่าวไว้พิจารณาต่อไป (ควรดูฎีกาที่ 455/2491 และ 492/2500 ประกอบ)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องเรียกเงินกู้ตามหนังสือสัญญากู้ ๑,๗๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การต่อสู้หลายประการและว่า จำเลยค้างเงินกู้โจทก์อยู่อีก ๕๘ บาท เท่านั้น
ศาลกะประเด็นให้โจทก์นำสืบก่อน
ทนายโจทก์ยื่นระบุพยานบุคคลและเอกสารก่อนวันสืบพยานโจทก์ ๑ วัน พยานจำเลยแถลงคัดค้านว่า โจทก์ไม่ระบุพยานให้ถูกต้อง ตามกระบวนวิธีพิจารณาทนายโจทก์แถลงว่าหลงลืมไป
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ที่ทนายโจทก์แถลงว่า ระบุพยานได้เป็นการฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๘๘, ๘๗ จำเลยให้การต่อสู้คดีโจทก์ไว้หลายประการ เมื่อพิเคราะห์ถึงความยุติธรรม ก็ไม่สมควรให้โจทก์ระบุพยานได้ จึงไม่รับระบุพยานของโจทก์ เป็นอันว่า โจทก์ไม่มีพยานมาสืบตามฟ้อง พิพากษาให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์เท่าจำนวนที่จำเลยรับว่าเป็นหนี้โจทก์อยู่ ๕๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
โจทก์อุทธรณ์อ้างฎีกาที่ ๔๕๕/๒๔๙๑ และฎีกาที่ ๔๙๒/๒๕๐๐ ขึ้นเปรียบเทียบว่า มีเหตุสมควรที่จะรับบัญชีระบุพยานของโจทก์ไว้ได้ จึงพิพากษากลับศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นรับบัญชีระบุพยานของโจทก์ไว้ พิจารณาแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยฎีกาขอให้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาเห็นว่า บทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๘๘ เรื่องระบุพยานหลักฐานนั้น แบ่งออกได้เป็น ๓ ตอน คือ ตอนแรกว่า ด้วยการระบุพยานหลักฐานครั้งแรก ตอนที่ ๒ ว่าด้วยการระบุพยานเพิ่มเติม ให้ระบุเพิ่มเติมได้เสมอในเมื่อฝ่ายที่สืบก่อนยังสืบไม่เสร็จ ตอนที่ ๓ ว่าด้วย การระบุพยานหลักฐาน จะเป็นระบุครั้งแรกก็ดี ระบุเพิ่มเติมก็ดี หากไม่เข้าตอน ๑ และ ๒ แล้ว ต้องขออนุญาตศาลก่อน ความประสงค์ของบทบัญญัตินี้ก็เพื่อมิให้คู่ความจู่โจมกันในทางพยานหลักฐานโดยไม่รู้สึกตัว ในทางปฏิบัติ จึงชอบที่จะพิจารณาว่า การที่คู่ความฝ่ายใดไม่ระบุพยานภายในกำหนด นั้น เป็นโดยประสงค์จะเอาเปรียบในทางคดี หรือว่าพลั้งพลาดไป หาได้ประสงค์จะเอาเปรียบในทางคดีไม่ และการที่ไม่ระบุพยานนั้น มีทางพอจะแก้ไขไม่ให้อีกฝ่ายหนึ่งเสียหายหรือไม่ หากเป็นเรื่องไม่ใช่เอาเปรียบและมีทางจะแก้ไขไม่ให้อีกฝ่ายหนึ่งระบุพยานเพิ่มเติมบ้าง เสียค่าเสียหายให้อีกฝ่ายหนึ่งเพราะต้องเลื่อนคดีเป็นต้น ก็ชอบที่ศาลจะใช้อำนาจตามตอน ๓ โดยสั่งตามควรแก่กรณี ทั้งนี้ เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ตัวความตามสมควร
คดีนี้ได้ความว่า ทนายโจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานบุคคลและเอกสารก่อนวันเริ่มต้นสืบพยานนัดแรก ๑ วัน พยานที่ระบุขอสืบ ก็เป็นตัวโจทก์กับเอกสารสัญญากู้ ซึ่งโจทก์ พร้อมที่จะนำเข้าสืบได้ในวันนั้น ในกรณีเช่นนี้ ไม่เป็นการทำให้จำเลยเสียหายแต่อย่างใด หรือถ้าหากจำเลยจะเสียหายก็มีทางแก้ไขได้โดยศาลย่อมมีอำนาจออกคำสั่งให้เลื่อนคดีไปให้โอกาศจำเลยได้พิจารณาเอกสารและตระเตรียมคดีถ้าจำเลยจะขอค่าเสียหายโดยต้องเลื่อนศาลเห็นสมควรจะพิจารณาให้ด้วยก็ได้ เช่นนี้ ย่อมเป็นการสมควรที่ศาลจะได้ฟังพยานทั้งสองฝ่ายเพื่อชี้ขาดข้อสำคัญแห่งคดีไปโดยความเที่ยงธรรม ซึ่งเป็นเจตนารมณ์อันแท้จริงของกฎหมาย ศาลควรให้รับระบุพยานของโจทก์ดังกล่าวไว้พิจารณาต่อไป ศาลฎีกาจึงพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์

Share