คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 71/2503

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยบังอาจลอบเข้าไปลักทรัพย์ในโรงพักสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทย เป็นการลักทรัพย์ในสถานที่ที่จัดไว้ เพื่อบริการสาธารณะมาตรา 335 (8) หรือลักทรัพย์ในสาธารณะสถานสำหรับขนถ่ายสินค้ามาตรา 335 (9)
อนุมาตรา 8 เป็นสถานที่บริการสาธารณะทั่ว ๆ ไป ส่วนอนุมาตรา 9 จำกัดสถานที่บางแห่งไว้โดยเฉพาะ แต่การกระทำของจำเลยนี้เข้าอนุมาตรา 9 ตรงกว่า จำเลยมีผิดตาม มาตรา 335 (9) ตอน 1 ไม่ใช่ตอน 2

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้อง จำเลยให้การรับสารภาพ ได้ความว่า จำเลยได้บังอาจลอบเข้าไปในโรงพักสินค้าของการท่าเรือแห่งประเทศไทย อันเป็นสาธารณสถานสำหรับขนถ่ายสินค้า และเป็นสถานที่ที่จัดไว้เพื่อบริการสาธารณะและทำการลักทรัพย์ของการท่าเรือแห่งประเทศไทยไป รวมราคา ๒,๐๔๐ บาท ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๔, ๓๓๕.
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม มาตรา ๓๓๕ ตอน ๒ ให้จำคุก ๓ ปี ลดรับสารภาพกึ่งหนึ่ง ตาม มาตรา ๗๘ คงเหลือ ๑ ปี ๖ เดือน ของกลางให้คืนแก่เจ้าทรัพย์
จำเลยอุทธรณ์ ขอให้ลดหย่อนผ่อนโทษ
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า สถานที่แห่งเดียวจะมีสภาพเป็นสาธารณะสถานสำหรับขนถ่ายสินค้าและเป็นสถานที่จัดไว้เพื่อบริการสาธารณะในเวลาเดียวกันไม่ได้ เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า สถานที่รายนี้มีสภาพทั้งสองอย่าง จำเลยรับสารภาพ โจทก์ไม่สืบพยานเพื่อให้รู้ว่า สถานที่รายนี้มีสภาพเป็นสาธารณสถานหรือสถานที่บริการสาธารณะแล้ว ศาลก็ไม่อาจปรับบทลงโทษว่าจำเลยมีความผิดอนุมาตราใด และจะลงโทษจำเลยทั้งสองอนุมาตราก็ไม่ได้ เพราะไม่อาจมีสภาพทั้งสองอย่างในเวลาเดียวกันได้ ฉะนั้น จึงลงโทษจำเลยตาม มาตรา ๓๓๕ ไม่ได้ คงลงโทษจำเลยได้ตาม มาตรา ๓๓๔ พิพากษาแก้บทลงโทษว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๔ กำหนดโทษคงเดิม
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยตาม มาตรา ๓๓๕ ตอน ๒
ศาลฎีกาเห็นว่า เรื่องนี้จำเลยให้การรับสารภาพเต็มตามฟ้อง กล่าวคือ รับว่าได้ลักทรัพย์ในสถานที่ที่จัดไว้เพื่อบริการสาธารณะ (อนุมาตรา ๘) และเป็นสาธารณะสถานสำหรับขนถ่ายสินค้า (อนุมาตรา ๙) ด้วย หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การกระทำผิดของจำเลยจะเรียกว่า ลักทรัพย์ตาม อนุมาตรา ๘ ก็ได้ หรือตาม อนุมาตรา ๙ ก็ได้ ไม่เป็นการขัดกัน อนุมาตรา ๘ เป็นสถานที่บริการสาธารณะทั่ว ๆ ไป ส่วนอนุมาตรา ๙ จำกัดสถานที่บางแห่งไว้โดยเฉพาะ จะปฏิเสธไม่ได้ว่า สาธารณะสถานสำหรับขนถ่ายสินค้าไม่ใช่สถานบริการสาธารณะ ฉะนั้น โจทก์จึงไม่จำเป็นต้องสืบพยานตามความเห็นของศาลอุทธรณ์อีก แต่ศาลฎีกาเห็นว่า การกระทำผิดของจำเลยเข้า อนุมาตรา ๙ ตรงกว่า เหตุนี้ จำเลยจึงมีผิดตาม มาตรา ๓๓๕ (๙) ตอน ๑ ไม่ใช่ ตอน ๒
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๕ (๙) ตอน ๑ ไม่ใช่ตอน ๒ นอกจากที่แก้นี้ คงเดิม

Share