คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1256/2482

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ปกครองเงินของผู้อื่นตามพินัยกรรม์เอาทรัพย์นั้นไปลงทุนประกอบการค้าโดยไม่ได้รับความยินยอมของผู้รับนั้น ผู้ปกครองต้องคืนเงินเต็มจำนวน จะอ้างว่าการถ้านั้นขาดทุนมาเป็นข้อแก้ตัวไม่ได้
พฤตติการณ์อันเกี่ยวกับการตีความในเอกสาร
การเสนอและการสนองนั้นตามกฎหมายเดิมก็มีหลักเช่นเดียวกับกฎหมายแพ่ง

ย่อยาว

ได้ความว่า เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ฯ ทำพินัยกรรม์ยกเงิน ๖๐,๐๐๐ บาทให้แก่โจทก์และตั้งจำเลยเป็นผู้รักษาเงินไว้ให้โจทก์ในเวลาที่เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ฯตายโจทก์ศึกษาอยู่ต่างประเทศ จำเลยรับรองต่อโจทก์ว่า ถ้าโจทก์ยังไม่ถอนเงินส่วนได้ของโจทก์และยอมให้อยู่ในความปกครองของจำเลย ๆ จะส่งเงินผลประโยชน์ให้โจทก์ และจำเลยก็ได้ส่งเงินผลประโยชน์ไปให้โจทก์ บัดนี้โจทก์ฟ้องเรียกเงินคืนทั้งหมด ฝ่ายจำเลยต่อสู้ว่า โจทก์มอบให้จำเลยเอาเงินไปหาผลประโยชน์ จำเลยจึงเอาไปลงทุนทำภาพยนตร์เรื่องจรเข้ เวลานี้ถอนทุนคืนยังไม่ได้ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยมีหนังสือถึงโจทก์ขอเอาเงินไปทำประโยชน์อย่างอื่น โจทก์มีหนังสือตอบมาว่า ถ้าจำเลยไม่รังเกียจ โจทก์ก็ขอฝากให้อยู่ในความปกครองของจำเลยต่อไป โจทก์ว่าโจทก์มีเงินฉะเพาะเท่านี้ฉะนั้นโจทก์จึงต้องตรองก่อนที่จะเอาเงินนี้ไปทำผล แต่ถ้าจำเลยจะกรุณารับผิดชอบ มิหนำจะหาผลประโยชน์ให้ด้วยแล้ว โจทก์ก็ยอมมอบให้จัดการในทางหนึ่งทางใดที่จำเลยเห็นดี
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เอกสารนั้นไม่แสดงว่า โจทก์ยอมให้จำเลยเอาเงินไปลงทุนในลักษณะที่ว่าได้ด้วยกันเสียด้วยกัน มีความหมายเพียงว่า โจทกืยอมให้จำเลยปกครองรักษาและจัดการหาประโยชน์ในเงินรายนี้โดยทางใดทางหนึ่งแล้ว แต่จำเลยจะเห็นดีซึ่งลักษณะเดียวกับที่ปฏิบัติอยู่แล้วเท่านั้น ฉะนั้นจำเลยจึงต้องคืนเงินให้แก่โจทก์ตามจำนวนที่รับกันคือ ๕๗,๕๐๐ บาท ข้อที่จำเลยฎีกาว่าเรื่องนี้เกิดก่อนใช้ประมวลแพ่งฯ จึงนำประมวลแพ่งฯ มาปรับคดีไม่ได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า หลักในเรื่องคำเสนอคำสนองก่อให้เกิดสัญญาผูกพันคู่กรณีเพียงไรหรือไม่นั้นมีลักษณะเดียวกัน ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น จึงพิพากษายืนตามศาลล่างที่บังคับให้จำเลยใช้เงินแก่โจทก์ ๕๗,๕๐๐ บาทกับดอกเบี้ย.

Share