แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หนังสือสัญญารับใช้เงิน มีข้อความแสดงอยู่ชัดแจ้งว่าจำเลยยอมรับว่าเป็นหนี้ค่าซื้อสินค้าโจทก์อยู่จริง และรับว่าคงค้างชำระอยู่ 2 จำนวน คือ 19,436.61 บาท และ 8,043 บาท ขอผัดชำระไป 6 เดือน ไม่มีข้อความตอนใดแสดงให้เห็นว่าจะให้มีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญในหนี้เดิมอย่างใด จึงเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ ไม่ใช่แปลงหนี้ใหม่
องค์การ อ.จ.ส. โจทก์จัดตั้งขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การจัดซื้อและจำหน่ายสินค้า พ.ศ. 2497 ซึ่งบัญญัติให้ดำเนินการค้าได้ เมื่อองค์การโจทก์เป็นเจ้าหนี้จำเลยในฐานะเป็นพ่อค้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1) ซึ่งมีอายุความ 2 ปี ตามฟ้องกล่าวว่า จำเลยชำระหนี้ครั้งสุดท้าย เมื่อเดือนสิงหาคม 2501 แม้นับอายุความใหม่ตั้งแต่วันชำระหนี้ครั้งสุดท้าย อันเป็นวันถือว่าจำเลยรับสภาพหนี้ตามมาตรา 172 จนถึงวันที่ 5 มีนาคม 2507 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ฟ้องก็เกิน 2 ปี คดีโจทก์ขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เดิมคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้จดตั้งองค์การจัดซื้อสิ่งของเพื่อบรรเทาทุกข์และบูรณะความเสียหายของประเทศ มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดซื้อและจำหน่ายเครื่องอุปโภคบริโภคและสิ่งของอื่น ๆ อันจำเป็นแก่การครองชีพของประชาชน ให้มีปริมาณเพียงพอที่จะบรรเทาทุกข์ราษฎร และเพื่อให้การครองชีพกลับคืนอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ต่อมาให้เรียกชื่อว่า องค์การจัดซื้อและขายสินค้า) (อ.จ.ส.) และต่อมาวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๙๗ มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การซื้อและขายสินค้า พ.ศ. ๒๔๙๗ รับโอนทรัพย์สิน สินทรัพย์ สิทธิ ความรับผิด ธุรกิจขององค์การจัดซื้อและจำหน่ายสินค้ามาทั้งหมด มีวัตถุประสงค์ที่จะอำนวยบริการแก่รัฐและประชาชนในการจัดการจำหน่ายเครื่องอุปโภค เครื่องมือ เครื่องใช้ และสรรพสินค้าต่าง ๆ กับพาณิชยกรรม เพื่อประโยชน์ในการเศรษฐกิจของชาติและช่วยเหลือในการครองชีพ ต่อมาวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๐๓ มีพระราชกฤษฎีกาให้ยกเลิกพระราชกฤษฎีกาและองค์การดังกล่าว คณะรัฐมนตรีมีมติให้ตั้งผู้ชำระบัญชี เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๔๙๓ จำเลยทำสัญญากับโจทก์เป็นเอเย่นต์จำหน่ายสินค้าของโจทก์ โดยรับสรรพสินค้าจากโจทก์ไปขาย และจัดส่งเงินเพื่อชำระราคา เดือนละ ๑ ครั้ง
จำเลยซื้อสินค้าเช่น เสื้อผ้า ด้าย หลอดไฟฟ้า ฯลฯ ไปจำหน่าย ไม่สามารถชำระหนี้ให้หมดสิ้นไปได้ ในวันที่ ๒ เมษายน ๒๔๙๙ โจทก์จำเลยทำสัญญาแปลงหนี้ใหม่ เป็นสัญญารับใช้เงิน มีเงื่อนไขยอมให้จำเลยผลัดชำระให้เสร็จสิ้นใน ๖ เดือน รวม ๒๗,๔๗๙.๖๑ บาท จำเลยชำระครั้งสุดท้ายเมื่อสิงหาคม ๒๕๐๑ รวมที่ค้าง ๒๐,๘๗๙.๖๑ บาท โจทก์ทวงถาม จำเลยไม่ชำระ ขอให้ศาลบังคับให้ชำระพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์ทำสัญญากับห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลสุมนพาณิชย์ จำเลยไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว ฟ้องเคลือบคลุม สัญญาที่ทำรับใช้เงินค่าซื้อสินค้า ไม่ใช่สัญญาแปลงหนี้ใหม่เพราะไม่ได้เปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญ คดีขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๖๕ เพราะมิได้ฟ้องภายใน ๒ ปี นับแต่วันรับสินค้า หรือนับแต่วันทำสัญญารับใช้หนี้หรือนับแต่วันชำระหนี้ครั้งสุดท้ายเมื่อสิงหาคม ๒๕๐๑
ศาลชั้นต้นงดสืบพยาน เห็นว่าคดีขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๕(๑) ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า
(๑) หนังสือสัญญารับใช้เงินลงวันที่ ๒ เมษายน ๒๔๙๙ มีข้อความแสดงอยู่ชัดแจ้งว่าจำเลยยอมรับว่าเป็นหนี้ค่าซื้อสินค้าโจทก์อยู่จริง และรับว่าคงค้างชำระหนี้อยู่ ๒ จำนวน คือ ๑๙,๔๓๖.๖๑ บาท และ ๘,๐๔๓ บาท ขอผลัดชำระไป ๖ เดือน จึงเป็นแต่เพียงการยอมรับรองโดยชัดแจ้งต่อโจทก์ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ว่าตนเป็นลูกหนี้แต่เดิมมาตามจำนวนนั้นจริง ๆ จะชำระหนี้ให้โดยขอเวลา ๖ เดือน ไม่มีข้อความตอนใดในหนังสือดังกล่าวนี้ที่แสดงให้เห็นว่าจะให้มีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญในหนี้เดิมอย่างใดเลย หนังสือนี้เป็นหนังสือรับสภาพหนี้ ไม่ใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่
๒. ปัญหามีว่า โจทก์เป็นพ่อค้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๕(๑) หรือไม่ เห็นว่า องค์การโจทก์จัดตั้งขึ้น โดยพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การจัดซื้อและจำหน่ายสินค้า พ.ศ. ๒๔๙๗ ตามมาตรา ๖ ระบุว่า มีวัตถุประสงค์ ๑. อำนวยบริการแก่รัฐและประชาชนในการจัดหาและจำหน่ายเครื่องอุปโภคบริโภค เครื่องมือ เครื่องใช้ และสรรพสินค้าต่าง ๆ ๒. ประกอบพาณิชยกรรมเพื่อประโยชน์ในการเศรษฐกิจของชาติ และช่วยเหลือในการครองชีพ มาตรา ๗ บัญญัติว่าเพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวในมาตรา ๖ ให้มีอำนาจรวมถึง ฯลฯ ๓. ทำการค้าเกี่ยวกับการพิมพ์ ฯลฯ ๗. ร่วมการงานหรือสมทบกับบุคคลอื่นเพื่อประโยชน์แห่งกิจการ อ.จ.ส.รวมทั้งการเข้าหุ้นส่วนหรือถือหุ้นส่วนหรือนิติบุคคลใด ๆ โดยอนุมัติคณะรัฐมนตรี ฯลฯ ๙.กระทำกิจการอื่นใดที่เกี่ยวกับกิจการค้า หรือที่ต่อเนื่องหรือใกล้เคียง และมาตรา ๑๒ ว่า ในปีหนึ่ง ๆ เมื่อได้หักราคาทุนของสินค้าที่ได้จำหน่ายและหักค่าใช้จ่ายสำหรับดำเนินกิจการ ฯลฯ เหลือกำไรสุทธิเท่าใด ให้นำส่งเป็นรายได้ของรัฐ ฯลฯ จึงเห็นว่า พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวได้บัญญัติให้โจทก์ดำเนินการค้าได้ คดีนี้โจทก์ก็เป็นเจ้าหนี้จำเลยในฐานะเป็นพ่อค้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๕(๑) ซึ่งมีอายุความ ๒ ปี ตามฟ้องกล่าวว่า จำเลยชำระหนี้ครั้งสุดท้ายเมื่อสิงหาคม ๒๕๐๑ ฉะนั้น แม้จะเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่จำเลยชำระหนี้ครั้งสุดท้าย อันถือว่าจำเลยรับสภาพหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๒ จนถึงวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๐๗ ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ฟ้องก็เกิน ๒ ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความ พิพากษายืน