แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อมีผู้ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนกล่าวหาว่าจำเลยบุกรุกที่ดิน จำเลยย่อมตกอยู่ในฐานะเป็นผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2 (2)แล้ว ซึ่งในชั้นสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 134 พนักงานสอบสวนจะบังคับให้ผู้ต้องหาให้ถ้อยคำใด ๆ ไม่ได้ และมาตรา 135 ก็บัญญัติห้ามมิให้พนักงานสอบสวนล่อลวงหรือขู่เข็ญผู้ต้องหาให้ให้การอีกด้วย จึงเห็นได้ว่า หมายเรียกของพนักงานสอบสวนที่ให้ผู้ต้องหามาเพื่อให้การ ไม่เข้าลักษณะเป็นคำบังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 168
กรณีผู้ต้องหาขัดขืนไม่มาให้การตามหมายเรียกโดยไม่มีข้อแก้ตัวอันควรนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 66(3) บัญญัติทางแก้ไว้ ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจออกหมายจับตัวมาได้ เป็นการลงโทษอยู่แล้ว จึงเห็นได้ว่า เจตนารมย์ของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 168 หาได้มุ่งหมายจะใช้บังคับกับผู้ต้องหาที่ขัดขืนไม่มาให้การต่อพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกด้วยไม่
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 17/2509)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องจำเลยรับสารภาพ ฟังได้ว่าร้อยตำรวจโทประเสริฐ รักษาสุข พนักงานสอบสวน ได้ออกหมายเรียกจำเลยซึ่งถูกนายโท น้อยมา กล่าวหาว่าบุกรุกที่ดิน ให้จำเลยมายังสถานีตำรวจอำเภอหนองแค เพื่อให้ถ้อยคำแก้ข้อกล่าวหาของนายโท จำเลยทราบข้อความในหมายเรียกแล้ว บังอาจขัดขืนไม่ยอมเซ็นรับหมายเรียก และขัดขืนไม่ไปพบพนักงานสอบสวนตามวันเวลาและสถานที่ที่กำหนดในหมายเรียก ศาลชั้นต้นลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๖๘ จำคุก ๒๐ วัน ลดรับกึ่ง จำคุก ๑๐ วัน
จำเลยอุทธรณ์ขอลดหย่อนผ่อนโทษ
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามฟ้อง พิพากษากลับ ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่เห็นว่า เมื่อนายโทไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนกล่าวหาว่าจำเลยบุกรุกทีดิน ย่อมเห็นได้ชัดว่าจำเลยได้ตกอยู่ในฐานะเป็นผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๒(๒) แล้ว ซึ่งในชั้นสอบสวน ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๓๔ บัญญัติว่า ผู้ต้องหาเต็มใจให้การอย่างใดหรือจะไม่เต็มใจให้การเลยก็ได้ แสดงชัดว่าพนักงานสอบสวนจะบังคับให้ผู้ต้องหาให้ถ้อยคำใด ๆ ไม่ได้ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๓๕ ก็ บัญญัติห้ามมิให้พนักงานสอบสวนล่อลวงหรือขู่เข็ญผู้ต้องหาให้ให้การอีกด้วย เห็นได้ว่าหมายเรียกของพนักงานสอบสวนที่ให้ผู้ต้องหามาเพื่อให้การนั้น ไม่เข้าลักษณะเป็นคำบังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๖๘ ส่วนกรณีที่ผู้ต้องหาขัดขืนไม่มาให้การตามหมายเรียกโดยไม่มีข้อแก้ตัวอันควร ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๖๖(๓) ก็บัญญัติทางแก้ไว้ คือ ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจออกหมายจับตัวมาได้ อันเป็นการลงโทษผู้ต้องหาที่ขัดขืนหมายเรียกอยู่แล้ว ศาลฎีกาเห็นว่า เจตนารมย์ของประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๖๘
หาได้มุ่งหมายจะใช้บังคับกับผู้ต้องหาที่ขัดขืนไม่มาให้การต่อพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกดังโจทก์อ้างไม่ การกระทำของจำเลยยังไม่เป็นความผิดตามฟ้อง พิพากษายืน