แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 45 จะบัญญัติให้ถือว่าพระภิกษุซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์เป็นเจ้าพนักงานตามความในประมวลกฎหมายอาญาก็ดี ก็มีแต่เพียงอำนาจสอบสวนอธิกรณ์และสั่งลงโทษพระภิกษุผู้ล่วงละเมิดพระธรรมวินัยเท่านั้น หามีอำนาจรับแจ้งความเกี่ยวกับการกระทำผิดอาญา และมีอำนาจสืบสวนสอบสวนคดีอาญาไม่ ฉะนั้น จึงไม่ใช่เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 172,173
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้กล่าววาจาใส่ความดูหมิ่นโจทก์ต่อหน้าบุคคลที่ ๓ ว่า โจทก์เข้าห้องส้วมกับพระอธิการบุญเฉพาะ ๒ คน เข้าไปทำอะไรก็ไม่รู้ ซึ่งคำกล่าวนี้น่าจะทำให้โจทก์เสียหาย เสียชื่อเสียงและถูกบุคคลอื่นดูหมิ่นเกลียดชัง และต่อมาจำเลยที่ ๑ ได้แจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อพระครูวิรุฬห์สุตาภรณ์เจ้าคณะตำบลบางปลาม้าว่า พระอธิการบุญเจ้าอาวาสวัดกกม่วงได้เอานางถนอมเข้าไปในห้องส้วมเฉพาะสองคนแล้วปิดประตู ซึ่งเป็นความเท็จ และต่อมาจำเลยที่ ๑,๒,๓ ได้แจ้งความเท็จต่อพระครูสุนทรธรรมคณี พระครูวิรุฬห์สุตาภรณ์ พระครูวิทิตธรรมสาร พระครูอุทุมพรพิทักษ์ พระครูวาทีธรรมคุณ และพระมหาคำมี ผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๔๕ ว่า เห็นโจทก์เข้าห้องส้วมกับพระอธิการบุญเฉพาะสองคน ประมาณ ๕-๖ นาฑี แล้วก็แลเห็นโจทก์ออกมา ต่อมาพระอธิการบุญก็ออกมา ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๙๓,๓๒๖,๑๗๒,๑๗๓,๘๓
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยไม่ได้กล่าวถ้อยคำหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ดังฟ้อง สำหรับข้อหาฐานแจ้งความเท็จ พระภิกษุทุกรูปที่โจทก์กล่าวในฟ้องมิใช่เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๗๒,๑๗๓ แม้ข้อความที่จำเลยแจ้งจะเป็นเท็จ ก็ลงโทษจำเลยไม่ได้ ไม่จำต้องวินิจฉัย พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า สำหรับความผิดฐานหมิ่นประมาท ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้อง โดยอาศัยข้อเท็จจริง ข้อหาฐานนี้เป็นอันถึงที่สุด คดีมีปัญหามาสู่ศาลฎีกาตามฎีกาโจทก์ว่า การที่จำเลยที่ ๑,๒ และ ๓ นำความไปแจ้งต่อพระภิกษุผู้ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในการปกครองคณะสงฆ์ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามพระราชบัญญัติสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๔๕ นั้น หากข้อความที่แจ้งเป็นเท็จ จำเลยทั้งสามจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๗๒,๑๗๓ หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ความผิดฐานแจ้งความเท็จดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๗๒,๑๗๓ นั้น ข้อความที่แจ้งจะต้องเกี่ยวกับความผิดอาญา และเจ้าพนักงานผู้รับแจ้งความจะต้องเป็นพนักงานอัยการ ผู้ว่าคดี พนักงานสอบสวนหรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาเท่านั้น ตามข้อเท็จจริงแห่งคดีนี้ฟังได้ว่า จำเลยทั้งสามร้องเรียนและให้การกล่าวโทษพระอธิการบุญเจ้าอาวาสวัดกกม่วงหาว่าล่วงละเมิดพระธรรมวินัย ซึ่งมิใช่ความผิดอันจะต้องรับโทษในทางอาญา และมิใช่เป็นการร้องเรียนและให้การกล่าวโทษตัวโจทก์ พระครูวิรุฬห์สุตาภรณ์เจ้าคณะตำบลผู้รับแจ้งความจากจำเลยที่ ๑ ในชั้นต้น และคณะกรรมการผู้ทำการสอบสวนอธิกรณ์อันประกอบด้วยพระสุนทรธรรมคณเจ้าคณะอำเภอเป็นประธาน แม้พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕๐๕ มาตรา ๔๕ จะบัญญัติให้ถือว่าเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาก็ดี ก็มีแต่เพียงอำนาจสอบสวนอธิกรณ์และสั่งลงโทษพระภิกษุผู้ล่วงละเมิดพระธรรมวินัยเท่านั้น หามีอำนาจรับแจ้งความเกี่ยวกับการกระทำผิดอาญาและมีอำนาจสืบสวนสอบสวนคดีอาญาไม่ ฉะนั้นจึงไม่ใช่เจ้าพนักงานผู้มีอำนาจหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๗๒,๑๗๓ คดีไม่มีทางลงโทษจำเลยตามบทกฎหมายที่โจทก์อ้างได้ ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน