แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การครอบครอบทรัพย์สินในระหว่างคดีนั้น คู่ความฝ่ายที่ครอบครองจะยกเอาสิทธิแห่งการครอบครองมาใช้ยันกับเจ้าของหาได้ไม่
การเรียกค่าเสียหายในกรณีละเมิดแย่งการทำนานั้น มีอายุความ 1 ปี ฉะนั้นค่าเสียหายในตอนที่ทำนามาก่อนนั้น ย่อมเป็นอันขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เดิมนางหมาป้าโจทก์มีที่ดินอยู่แปลงหนึ่ง ต่อมานางหมาได้ทำพินัยกรรมยกที่แปลงนี้ให้โจทก์ เมื่อนางหมาตาย โจทก์ได้เข้าครอบครองที่ดินมาจนถึงปี พ.ศ.๒๕๐๑ จึงไปขอโอนรับมรดก แต่จำเลยคัดค้านและเข้าแย่งการครอบครอง ทั้งได้ฟ้องโจทก์ด้วย ที่สุดศาลฎีกาพิพากษาให้ยกฟ้อง จึงขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารและใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่พิพาท และห้ามเกี่ยวข้องต่อไป
โจทก์อุทธรณ์ว่า ค่าเสียหายปีสุดท้ายยังไม่ขาดอายุความ
จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ แต่ละคน ใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงินคนละ ๑๓๖.๕๐ บาท และใช้ค่าเสียหายนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะเลิกครอบครองนาพิพาทรวมทั้งดอกเบี้ย กับให้จำเลยที่ ๒ ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ๕๔๖ บาท รวมทั้งดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑ และ ที่ ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลฎีกาได้เคยพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของนางหมา นางหมาได้ทำพินัยกรรมยกให้โจทก์ ดังนี้ ก็ต้องฟ้องว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ เมื่อคดีเรื่องก่อนถึงที่สุดแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีนี้ขอให้ขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้ จำเลยจะอ้างว่าจำเลยเข้าแย่งการครอบครองมาแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๑ เป็นเวลาเกินกว่า ๑ ปี คดีขาดอายุความฟ้องร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๓๗๔ ไม่ได้ เพราะการที่คู่ความฝ่ายหนึ่งครอบครองทรัพย์สินที่พิพาทในระหว่างคดีนั้น คู่ความฝ่ายที่ครอบครองจะยกเอาสิทธิแห่งการครอบครองดังกล่าวมาใช้ยันกับคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งหาได้ไม่
ฎีกาจำเลยในเรื่องค่าเสียหายที่คัดค้านว่า โจทก์มิได้ฟ้องภายใน ๑ ปี นับแต่จำเลยทำละเมิด คดีขาดอายุความแล้วนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อโจทก์ฟ้องว่าจำเลยเข้าแย่งการครอบครองทำนาพิพาทของโจทก์ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๑, ๒๕๐๒, ๒๕๐๓ และ ๒๕๐๔ กับปีต่อ ๆ มาโดยไม่ปรากฏวันเดือนที่จำเลยทำละเมิด ก็ต้องถือว่าจำเลยทำละเมิดตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.๒๕๐๑ ติดต่อกันมาจนถึงวันฟ้อง เมื่อโจทก์ทราบแล้วไม่ฟ้องภายใน ๑ ปี คดีของโจทก์สำหรับค่าเสียหาย ๓ ปีแรกจึงขาดอายุความ แต่ค่าเสียหายสำหรับปี พ.ศ.๒๕๐๔ ที่โจทก์ฟ้องกับปีต่อ ๆ ไปยังไม่ขาดอายุความ
พิพากษายืน ให้ยกฎีกาจำเลยที่ ๑ และที่ ๓